เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาได้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สนับสนุน จะรุนแรงแค่ไหน
ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ กว่า 46,000 ล้านบาทในข้อหาร่ำรวยผิดปกติอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของ แต่ซุกหุ้นอยู่ในชื่อของลูกๆและเครือญาติ
แต่พอจะคาดหมายได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องเผชิญชะตากรรมเช่นไรจากผลของคำตัดสินดังกล่าว(ในทางกฎหมาย)
จากคำร้องของอัยการสูงสุดที่ยื่นต่อศาลฎีกา ระบุว่า ในการออกมาตราการ 5 ประการของพ.ต.ท.ทักษิณที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปนั้น ปรากฎหลักฐานในการสั่งการจนเป็นความผิดอาญาถึง 2 กรณีซึ่งมีการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯคือ
1.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นค่าภาษีสรรพสามิต โดยมีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยให้นำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อีกทั้งยังมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 20-50% ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น
ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นกีดกันระบบโทรคมนาคมเสรีอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส (หมายเลขคดีดำที่ อม.9/2551 )
2.การอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชินแซทฯ โดยเฉพาะ ซึ่งครั้งแรกผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์ให้วงเงิน 3,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า
ต่อมาได้สั่งการเห็นชอบเพิ่มวงเงินกู้อีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่า โดยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อประโยชน์ของบริษัท ชินแซทฯ(หมายเลขคดีดำที่ อม.3/2551)
แต่จำเลยคือ พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีศาลฎีกาฯจึงสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาฟ้องต่อศาล
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเผชิญกับคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับคดียึดทรัพย์ถึง 2 คดีซึ่งศาลฎีกาฯ(องค์คณะยึดทรัพย์)เห็นว่า มีนการใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเอง
ดังนั้นคำถามคือ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งต้องพิจารณาคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าว จะพิพากษาคดีเป็นอย่างอื่นหรือตรงกันข้ามกับองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเท่ากับว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาขัดแย้งกันเองในเรื่องเดียวกัน
เมื่อดูจากคำฟ้องทั้ง 2 คดีที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 152 และ 157 ถ้าศาลฯพิพากษาว่า ผิดจริง ต้องระหว่างโทษจำคุกในแต่ละคดีตั้งแต่ 1-10 ปี(โทษหนักกว่าการซื้อที่ดินรัชดาภิเษกที่ระหว่างโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี แต่ศาลตัดสินจำคุกถึง 2 ปี ยังไม่รวมคดี หวยบนดินที่ศาลตัดสินไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณเพราะหลบหนี รวมถึงคดีอื่นๆที่มีการฟ้องแล้ว แต่ไม่ได้เกี่ยวพันกับคดีนี้ )
นอกจากนั้น การศาลฎีกาฯพิพากษา พ.ต.ท.ทักษิณ"อำพราง"หรือ"ซุกหุ้น"จริง ก็เท่ากับการการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตั้งแต่ปี 2544-2549 เป็นเท็จไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง ต้องระวางโทษจำคุกคดีละไม่เกิน 6 เดือนรวมแล้ว ถึง 3 ปี
หมายความว่า แม้จะได้ทรัพย์สินคืนบางส่วนกว่า 32,000 ล้านบาท แต่พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังไม่สารถกลับมาประเทสไทยได้เพราะมีคดีอาญารอต้อนรับอยู่อีกเพียบ ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น
โอกาสเดียวที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดได้คือการต่อสู้จนมีการพระราชทานอภัยโทษหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือต้องสู้จนกว่า"แผ่นดินจะกลบหน้า"ตามที่ได้ประกาศไว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น