“ ดุลพินิจ ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว” หากผู้พิพากษาท่านหนึ่งต้องประหารผู้กระทำความผิดตามกฎหมายโดยไม่มีเหตุลด โทษใดๆ แต่ท่านไม่ประหารเพราะ “กลัวบาป” หรือเพราะท่านไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต ผู้พิพากษาท่านนั้นต้องลาออก เพราะท่านไม่เคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย
แต่กลับเอา “อคติส่วนตัว” มาใช้ อคติที่ว่านี้คือ “ภยาคติ”
การกลัวบาป เป็นมโนธรรมที่ดี แต่หากเกิดด้วยมิจฉาทิฐิ ก็กลับกลายเป็นภยาคติ ได้โดยไม่ต้องมีใครเอามีดมาจ่อคอหอย หรือเอา M 79 มาขู่
ผู้พิพากษาเป็นเพียงผู้ชี้กรรมเท่านั้น ท่านหาได้เป็นผู้ทำบาปหรือสร้างกรรมไม่ แต่หากทำด้วยอคติท่านจึงจะกลายเป็นผู้สร้างกรรมและต้องชดใช้กรรมที่ท่านก่อ ไว้นั้นเอง
ดังนั้นการที่ท่านคิดว่าการชี้กรรมนั้นเป็นการทำบาปจึงเกิดจากความไม่รู้จริง เป็นโมหาคติ การกลัวบาปจึงกลายเป็นภยาคติ ด้วยเหตุนี้
การใช้ดุลพินิจที่ไม่มีหลักเกณฑ์ เพราะไม่มีเหตุผลรองรับเป็น “อำเภอใจ” (arbitariness) เป็น โมหาคติ อย่างหนึ่ง หากทำไปเพราะเพื่อตามใจผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าศาลด้วยกัน ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เป็นฉันทาคติ คือตัดสินตามความพอใจของตน ใครคัดค้านโต้แย้ง ก็ลงโทษด้วยบทละเมิดอำนาจศาล หรือดูหมิ่นศาล ก็จะกลายเป็น โทสาคติ ได้
ถ้าผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจตัดสินด้วยอคติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 นี้ ใครจะเป็นคนชี้ว่าท่านไม่ควรเป็นผู้พิพากษาอีกต่อไป ! หรือจะรอให้ผลกรรมตกแก่ตัวท่านเองเท่านั้น
หากเป็นเช่นนั้นความเชื่อมั่นศรัทธา และความชอบธรรมในการใช้อำนาจของศาลก็จะ ลดน้อย เสื่อมทรามลงและ ค่อย ๆ ถูกกัดกร่อนบ่อนทำลายสถาบันตุลาการจนล่มสลายจากความไว้วางใจไปในที่สุด
สังคม ประเทศชาติก็จะขาดที่พึ่งแหล่งสุดท้ายไปอย่างที่ไม่มีใครจะช่วยได้
เรามีบทลงโทษผู้ที่ใช้อิทธิพลข่มขู่ คุกคาม ผู้พิพากษา แต่ผู้พิพากษาที่อยู่ใต้อิทธิพลของอคติ 4 กลับไม่มีใครลงโทษได้โดยอ้างอาศัยว่าเป็น “ดุลพินิจ”
คนเสนอทรัพย์สินให้เจ้าหน้าที่ศาล ถูกลงโทษได้ทันทีฐานละเมิดอำนาจศาล แต่คนของศาลที่รับทรัพย์สินไว้กลับไม่มีใครลงโทษ ด้วยเหตุผลร้อยแปด
สมมติว่าผู้พิพากษาท่านหนึ่งเรียกคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีมรดก หรือคดีของบริษัทจัดสรรที่ดินรายใหญ่เข้าไกล่เกลี่ยแล้วท่านเพียงกล่าวว่า
“ศาลเองก็อยากซื้อหรืออยากขายที่ดินสักแปลงหนึ่งเหมือนกัน ขอปรึกษาว่าจะทำไงดี”
หากต่อมาปรากฏว่าคดีนี้ฝ่ายที่ไม่ได้ “ให้คำแนะนำ” อันเป็นที่พอใจของศาลถูกตัดสินให้แพ้คดี ทั้งที่ข้อกฎหมายเป็นไปในทางตรงกันข้ามโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินกลับคำ พิพากษานั้นในภาย หลัง จะมีใครกลับไปพิจารณาพฤติกรรมอันไม่ชัดแจ้งดังกล่าวนี้หรือไม่ ?
คงไม่ .... เพราะเป็น “ดุลพินิจ” ของผู้พิพากษาท่านนั้น และสามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้อยู่แล้วกระมัง และทรัพย์สินของท่านก็ไม่มีอะไรเพิ่มขึ้น !!!
หลักฐานในการใช้อคติด้านการเงินจึงไม่ปรากฏ ทั้งที่ ด้านข้อกฎหมายปรากฎชัด
นี่คือดุลพินิจที่ไม่มีใครตรวจสอบได้
ดังนั้น การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช. )จะเข้าตรวจสอบพฤติกรรม น่าสงสัยของ “ข้าราชการในตำแหน่งตุลาการ” ก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง เป็นการช่วยกันหาข้อเท็จจริง และไม่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการทำงานของ คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เพราะท่านเองก็จะได้ข้อเท็จจริง
หากผู้เกี่ยวข้องไปร้องต่อ คณะกรรมการตุลาการเองโดยไม่มีข้อเท็จจริงประกอบ (เพราะไม่มีอำนาจไปขุดคุ้ย) ก็อาจจะโดนผู้พิพากษาที่ถูกร้องเรียนนั้นฟ้องร้องเอาฐานดูหมิ่นศาลหรือ แจ้งความเท็จต่อ ก.ต. ซึ่งก็มีกรณีเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ และเขาก็อาจจะแพ้คดีที่เขาถูก ผู้พิพากษาฟ้องเขาในศาลที่ผู้พิพากษาท่านนั้นสังกัดอยู่ดี
หากเราจะถือหลักว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และต้องทำงานด้วยความโปร่งใส ภายใต้กฎหมาย ก็ต้องให้ ป.ป.ช. นี่แหละเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แม้แต่ข้าราชการในตำแหน่งตุลาการ ผมมีกฎหมายอ้างอิง 2 ฉบับ ดังนี้
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 บัญญัติว่า “ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ........ ฯ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต”
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 บัญญัติไว้ ความว่า “ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายความว่า …. ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ ….. หรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ …..
-------------- ฯลฯ -----------------
มาตรา 19 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภาตามหมวด 5 การถอดถอนจากตำแหน่ง
(2) ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดี......
(3) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(4) ตรวจสอบความถูกต้อง ....... “
ผู้เสียหาย ก็ทำได้โดยชอบตามมาตรา 84 ความว่า “ การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ .... ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ในการยุติธรรม ให้ผู้กล่าวหายื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของตนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐไม่เกินสองปี”
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคำกล่าวหา …. หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อ หน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหมวด 4 การไต่สวนข้อเท็จจริง (มาตรา 88) หากป.ป.ช.ไม่ทำก็จะมีความผิดได้ ป.ป.ช. จึงต้องทำ
หาก เห็นว่าการให้ผู้ถูกกล่าวหายังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจจะก่อความเสียหายให้ แก่ทางราชการหรือเป็นอุปสรรคในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขอให้พักราชการผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ ตามมาตรา 90
คณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายฉบับนี้เป็นผู้บังคับบัญชาพิจารณาความผิดทางวินัยของผู้พิพากษาเท่านั้น ตามมาตรา 92 “ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ ใดได้กระทำความผิดวินัย …. กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ..... ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสาร ที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานคณะกรรมการตุลาการ ..... เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่าย ตุลาการ …. โดยเร็ว โดยให้ถือเอารายงานและเอกสารของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของ สำนวนการสอบสวนด้วย และเมื่อดำเนินการได้ผลประการใดแล้วให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่งลงโทษทางวินัย .... ฯ”
มาตรา 95 ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาไม่ดำเนินการ ทางวินัย ... หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา ... ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ….ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ นั้นเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการข้า ราชการตุลาการ .... ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งความเห็นไปยังประธานคณะกรรมการตุลาการ... ฯ”
ผมจึงเห็นไปว่า การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นทำได้และมิได้ก้าวก่ายอำนาจใคร เพราะเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนจะปรากฏต่อมาว่าใครบริสุทธิ์หรือทุจริตอย่างไรหรือไม่ ก็ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่พบ อย่าห้ามการหาข้อเท็จจริงเลย
สำหรับเหตุการณ์ประกอบพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้องที่ตามมา ... ทำให้ผมเกิดความกังขา ... ขอตั้งคำถาม ณ ตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่า
ถ้ามีเรื่องกับใคร ให้ไปพึ่งศาล
แต่ถ้ามีเรื่องกับศาลจะหันหน้าไปพึ่งใคร ?(ถ้าไม่ใช่ป.ป.ช.)
ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ศาลเป็นสิ่งเดียวที่ผมเองและประเทศชาติหวังเป็นที่พึ่งสุดท้าย หากผู้พิพากษาบางคนมุ่งทำลายสถาบันศาล ด้วยการแสดงออกไม่ว่า ด้วยโทสาคติก็ดี หรือด้วยโมหาคติ (ไม่รู้กฎหมายและขาดคุณธรรม มโนธรรมของผู้พิพากษา)
ผมเอง ประชาชนทั้งหลายและนักกฎหมายทั้งปวง ก็คงจะสิ้นหวัง ได้แต่ปลงอนิจจัง ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลกันไป
*******
*หมายเหตุ-นิติศาสตร์ บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขากฎหมายอาญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เนติบัณฑิตไทย, LL.M. (University of Pennsylvania), ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายอาญา (D.E.A. de sciences criminelles), ปริญญาเอกเกียรตินิยมทางกฎหมายอาญา (l’ Universit? de Nancy 2); Doctorat en droit p?nal, mention tr?s honorables (l’ Universit? de Nancy 2), รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น