| ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ | | วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 11:55:07 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ย้อนดู"คดียึดทรัพย์"จากปี 2484 ถึง 2553 จาก"ศาลเตี้ย"สู่"ศาลฎีกาฯ" จับตา"ประกาศฉบับที่ 30" ?
ประชาชาติธุรกิจ นำท่านผู้อ่านไปย้อนอดีตกลับไปดูคดียึดทรัพย์ในอดีตหลัง 2475 เป็นต้นมา อาจทำให้ท่านผู้อ่าน หูตาสว่างขึ้น !!!
ช่วงนี้ ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองจะพิพากษาคดีเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของอดีตนายกรัฐมนตรีกันอยู่ มาก เรียกได้ว่าเป็นหัวข้อสนทนาที่สำคัญในสังคมไทย ... ผลจะเป็นอย่างไรก็รอฟังในบ่ายวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น วันนี้ เรามาย้อนดูคดียึดทรัพย์ที่ผ่านมา ล่าสุด ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ครั้งสำคัญ ๆ ในประเทศไทยที่ชวนติดตาม ทั้งนี้ นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อาจแบ่งได้เป็น 3 เรื่องหลัก ๆ คือ การยึดทรัพย์พระมหากษัตริย์ การยึดทรัพย์นักการเมือง และการยึดทรัพย์ข้าราชการระดับสูง @ การยึดทรัพย์พระมหากษัตริย์ สำหรับ “คนรุ่นใหม่” คงสงสัยว่า “การยึดทรัพย์พระมหากษัตริย์” เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สถานะของพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนกับในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ “อะไรๆ” จึงเกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลาดังกล่าว ผมคงไม่สามารถนำมาเล่าทั้งหมดได้ แต่จะเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ของพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัวภายหลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ในเวลานี้ก็หายากมาก ได้อาศัยหนังสือเรื่อง “เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ” ของนายหนหวย (ไม่ปรากฏวันเดือนปีที่พิมพ์และสำนักพิมพ์) มาเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคว้า สรุปความได้ว่า ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลในขณะนั้นได้เสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งต่อมาได้ผ่านการพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2479 กฎหมายดังกล่าวคือ “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479” กฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อแบ่งเอาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ไปเป็น ของแผ่นดินโดยแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดินและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจาก กัน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ใน กฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการชุดนี้พบว่ามีเงินจำนวนหนึ่งถูกสั่งจ่ายไปโดยพระปกเกล้าฯ สำหรับภารกิจของพระองค์ตั้งแต่ครั้งยังไม่ทรงสละราชสมบัติ ต่อมากระทรวงการคลังจึงได้มอบให้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระปกเกล้าฯและพระ นางเจ้ารำไพพรรณีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2482 เรียกร้องให้ใช้เงินจำนวน 6 ล้านบาทเศษคืนแก่รัฐบาล การพิจารณาคดีดำเนินไปในขณะที่พระปกเกล้าฯทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484 ศาลแพ่งก็ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2484 ให้โจทก์คือกระทรวงการคลังชนะคดี พระปกเกล้าฯ ซึ่งขณะนั้นสวรรคตไปแล้วจึงต้องคืนเงินจำนวน 6 ล้านบาทเศษให้กับกระทรวงการคลัง ข้อมูลต่อจากนี้ผมไม่สามารถหาได้ว่ามีการดำเนินการอย่างไร แต่ที่พบก็คือ รัฐบาลยึดวังศุโขทัยและริบทรัพย์สินอื่นของพระปกเกล้าฯเพื่อนำไปขายทอดตลาด แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ขาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ขอเช่าวังศุโขทัย จากกระทรวงการคลังในอัตรา 5,000 บาท ต่อเดือนเพื่อใช้เป็นที่ทำการครับ นี่คือความเป็นมาอย่างคร่าว ๆ ของการยึดทรัพย์พระมหากษัตริย์เท่าที่ผมพอจะหาได้ครับ การยึดทรัพย์ครั้งนี้เป็นเรื่องของ “การเมือง” ล้วนๆ เป็นการเมืองที่ “พลเรือน” เล่นกันอย่าง “รุนแรง” และก็เป็นการยึดทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นใดๆทั้งสิ้นครับ ! @ ยึดทรัพย์ "จอมพลสฤษดิ์"ศาลจำหน่ายคดี ในอดีตที่ผ่านมา มีนักการเมืองถูกยึดทรัพย์ไปแล้วหลายราย การยึดทรัพย์นักการเมืองทุกครั้งมีสาเหตุมาจากการที่นักการเมืองทุจริต คอรัปชั่นครับ การยึดทรัพย์นักการเมืองครั้งแรกเกิดขึ้นกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ในระหว่างดำรงตำแหน่งได้แสดงบทบาทเป็นอย่างสูงด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สั่งประหารชีวิตและจำคุกผู้คนจำนวนหนึ่ง หลังจากที่ถึงแก่อสัญกรรมไปไม่กี่เดือน บุตรชายของจอมพลสฤษดิ์ ฯ ที่เกิดจากภรรยาเก่าและพวกก็ได้ฟ้องขอให้ศาลแบ่งมรดกจำนวน 287 ล้านบาทเศษ ซึ่งก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากว่า จอมพลสฤษดิ์ ฯ นั้นร่ำรวยมาจากไหน!!! นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยมีพระมนูเวทย์วิมลนาท เป็นประธาน คณะกรรมการชุดดังกล่าวทำงานอยู่ 5 เดือน จึงได้รายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ฯต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีก็ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ฯ 2 ครั้ง รวม 600 ล้านบาทเศษ เมื่อท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยาจอมพลสฤษดิ์ ฯ ได้ยื่นฟ้องคัดค้านการยึดทรัพย์ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2508 รัฐบาลจึงได้นำเอาประเด็นการใช้อำนาจมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 และร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 เข้าสู่การอภิปรายของสภานิติบัญญัติในวันต่อมาคือในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ในวันเดียวกันนั้นเอง สภาได้ลงมติเห็นชอบในหลักการและพิจารณาร่างกฎหมาย 3 วาระรวด รวมถึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกันนั้นเองด้วยคือวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2508 กฎหมายดังกล่าวคือ “พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2508” ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญคือ คุ้มครองการใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรก่อนหรือหลังวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าว ใช้บังคับ (มาตรา 13) และหากมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ก็ให้ศาลจำหน่ายคดี (มาตรา 14) ภายหลังจากที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2510 จำหน่ายคดีดังกล่าวครับ !!! @ ยึดทรัพย์ จอมพลถนอมและเครือข่าย การยึดทรัพย์นักการเมืองครั้งต่อมา คือการยึดทรัพย์จอมพลถนอม กิตติขจร และเครือญาติ ในปี พ.ศ. 2516 เกิดเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” ขึ้นและจอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกต้องเดินทางออกนอกประเทศ รัฐบาลที่มีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ใช้อำนาจอายัดและตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพลถนอม กิตติขจร กับพวกตามเสียงเรียกร้องของมหาชนในขณะนั้น โดยมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาคณะหนึ่ง มีนายบุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบพบว่าจอมพลถนอม ฯ กับพวก (ซึ่งเป็นเครือญาติ) มีทรัพย์สินรวม 434 ล้านบาทเศษ นายกรัฐมนตรีคือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 สั่งยึดทรัพย์จอมพลถนอม ฯ กับพวกไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งต่อมาภายหลังจากที่จอมพลถนอม ฯ สามารถกลับเข้าสู่ประเทศไทยได้ ก็ได้ทำการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ยึดทรัพย์ของตนและพวก ไม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลฎีกาในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ก็ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันครับ @ 10 นักการเมืองยุคน้าชาติ(ก็)หลุด การยึดทรัพย์นักการเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นภายหลังการรัฐ ประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ครั้งนั้น รสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 26 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองขึ้นคณะหนึ่งมี พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนักการเมืองและผู้ที่ เกี่ยวข้อง รวม 25 คน ต่อมาภายหลังการตรวจสอบพบว่ามีนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องเพียง 13 คนเท่านั้นที่ “ร่ำรวยผิดปกติ” แต่ในที่สุดก็มีเพียง 10 คนที่ถูกยึดทรัพย์การยึดทรัพย์นำมาสู่การแก้ไขประกาศฉบับที่ 26 ให้ “ดูเป็นธรรม” ยิ่งขึ้น โดยให้นักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์มีสิทธิคัดค้านต่อศาลได้ นักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์ได้ใช้สิทธิดังกล่าวคัดค้านการยึดทรัพย์ต่อศาล โดยโยงประเด็นไปถึงความชอบธรรมของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ต่อมาศาลฎีกาซึ่งได้พิพากษาว่า อำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเป็นอำนาจในการพิพากษาคดีที่เป็นของศาล ประกาศฉบับที่ 26 จึงมีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่น เดียวกับศาลที่ขัดกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลดังกล่าวประกอบกับเหตุผลอื่น ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งยึดทรัพย์ของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งก็ส่งผลให้ทรัพย์สินของนักการเมืองทั้ง 10 คน ไม่ถูกยึดครับ!!! @ รักเกียรติ ประเดิมรัฐธรรมนูญปี 40 ภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ประกาศใช้บังคับ มีการตั้งองค์กรในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองขึ้นมาใหม่ ๆ หลายองค์กร รวมทั้ง “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ “ยึดทรัพย์” นักการเมืองไปแล้ว 1 คน คือ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาถึงเหตุการณ์ล่าสุดกันบ้าง ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ออกประกาศฉบับที่ 23 เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองขึ้น โดยมีนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการอีก 7 คน ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่งที่เป็นข้าราชการระดับสูงของประเทศทั้งนั้น แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใด 6 วันต่อมา คือในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐประหารก็ได้ออกประกาศฉบับที่ 30 ยกเลิกประกาศฉบับที่ 23 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินใหม่จำนวน 12 คนโดยไม่ระบุตัวประธานกรรมการ และเป็นการตั้งบุคคลตามรายชื่อเฉพาะตัวเป็นกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตนายก รัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากนั้นก็ส่งต่อไปให้องค์กรอื่นๆซึ่งเป็นองค์กรที่มีอยู่ตามปกติตามรัฐ ธรรมนูญและตามกฎหมาย ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับที่ 30 เรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกิดจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 @ ยึดทรัพย์ บิ๊ก ข้าราชการ ส่วนการยึดทรัพย์ข้าราชการระดับสูงนั้น ที่ผ่านมาเท่าที่ผมทราบ ศาลฎีกาได้ตัดสินยึดทรัพย์จำนวน 69 ล้านบาทเศษของพลเอกชำนาญ นิลวิเศษ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ กับศาลฎีกาได้ตัดสินยึดทรัพย์จำนวน 16 ล้านบาทเศษของนายเมธี บริสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติ เช่นกันครับ การยึดทรัพย์ของข้าราชการทั้ง 2 รายนี้ เป็นการยึดทรัพย์โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่และโดยศาลฎีกา จึงไม่มีข้อโต้แย้งใดๆตามมาครับ ทั้งหมดก็คือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการยึดทรัพย์ครั้งสำคัญ ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย @ จับตา ประกาศ ฉบับที่ 30 จุดอ่อนยึดทรัพย์"ทักษิณ" จะเห็นได้ว่า กระบวนการยึดทรัพย์นักการเมืองไทยโดยอาศัยอำนาจที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เช่นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าเป็นการใช้อำนาจของ “ศาลเตี้ย” ที่ใช้อำนาจ “นอกระบบ” โดยไม่ใช้อำนาจตุลาการทำการตัดสิน การยึดทรัพย์ในปี พ.ศ. 2534 จึงพยายามทำให้เป็นระบบมากขึ้น แต่ก็เกิดข้อผิดพลาดทางกระบวนการด้านกฎหมายขึ้นมาอีก ด้วยเหตุนี้เองที่กระบวนการเพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์ครั้งล่าสุด จึงพยายามทำให้เป็น “ระบบ” มากขึ้น โดยไม่ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจในการยึดทรัพย์ แต่กลับส่งไปให้ “กลไก” ตามปกติที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คือ อัยการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ดำเนินการต่อไปจน จบ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า หากมีการ “ยึดทรัพย์” เกิดขึ้นจริงแล้ว จะเกิดเสียงเรียกร้องหรือความพยายามที่จะให้เกิดการ “คืนทรัพย์” ตามมาเช่นการยึดทรัพย์นักการเมืองที่ผ่านมา 3 ครั้งหรือไม่ เพราะการออกประกาศฉบับที่ 30 ของคณะรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2549 เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินขึ้นมาก็เป็น “จุดอ่อน” ที่สำคัญของกระบวนการยึดทรัพย์ครั้งล่าสุดนี้ครับ !!! |
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1266209818&grpid=no&catid=04 ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.thaifreedompress.blogspot.com/http://sunblog1951.blogspot.com/ sunday
http://blogpwd.blogspot.com/ pwd9
http://ktblog1951.blogspot.com/ pwday
http://newsblog9.blogspot.com/ news
http://bloghealth99.blogspot.com/ health
http://labour9.blogspot.com/ labour
http://www.media4democracy.com/th/ http://www.youngtelecom.org/http://www.logex.kmutt.ac.th/ http://www.mict4u.net/thai/ http://www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htmhttp://www.agkmstou.com/2008/index.phphttp://www.baanjomyut.com/library/lotus/index.html http://www.asianbarometer.org/newenglish/introduction/default.htmhttp://www.isriya.com/node/2809 /wordcamp-bangkok-2009-pool-party
C:\Documents and Settings\user\My Documents\ไฟล์ที่ได้รับของฉัน\issarachon1101.wma
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=hiansoon
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น