อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Bookmark and Share
Bookmark and Share

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาของบุคคลภายใต้มาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

กรณีศึกษานางสาววิไลพรและน้องใน ฎ.๕๖๐/๒๕๔๓ : ปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาของบุคคลภายใต้มาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล การศึกษาชั้นปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง ปีการศึกษา ๒๕๕๐ ภาคที่ ๒ ออกโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางสาววิไลพร พรมไชยา นางสาวพัชรี พรมไชยา นายแสงเพชร พรมไชยา นางสาววรรณวิสา พรมไชยา และเด็กชายทองแดง พรมไชยา เป็นบุตรของนายยุทธเวท พรมไชยา คนสัญชาติไทย และนางพันธ์ แสนคำ คนสัญชาติลาว ซึ่งนางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน เกิดก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในขณะที่นายยุทธเวทบิดาเดินทางไปประกอบอาชีพอยู่ในประเทศดังกล่าว และได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับนางพันธ์ตามประเพณี

ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ นายยุทธเวทได้พานางพันธ์ ตลอดจนบุตรทั้ง ๕ คน อพยพกลับเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และนางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คนได้ยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ แต่องค์กรนี้ของรัฐมีคำสั่งยกคำขอของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงร้องต่อศาลไทยเพื่อให้ศาลนี้ยืนยันความเป็นไทยโดยสัญชาติของผู้ ร้องทั้งหมด

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่ง เขต ๔ คัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งห้าไม่ได้เป็นบุตรของนายยุทธเวท และนายยุทธเวทไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางพันธ์ แสนคำ ผู้ร้องทั้งห้าจึงไม่ได้สัญชาติไทย จึงขอให้ศาลไทยยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกคำร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๕๐๐ บาท

ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ร้องทั้งห้าไม่ต้องใช้ค่าทนายความแทนผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปคำพิพากษาศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านแก้อุทธรณ์เอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองใน ฎ.๕๖๐/๒๕๔๓ วินิจฉัยว่า "ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งห้ามีว่า ผู้ร้องทั้งห้าได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗(๑) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา๔ บัญญัติว่า "บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ๗ (๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย” และมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติว่า "บท บัญญัติมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย"  ฉะนั้น ผู้ร้องทั้งห้าจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องทั้งห้าเกิดนอกราชอาณาจักรไทยจะได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ผู้ร้องต้องเกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย บิดาตามบทกฎหมายดังกล่าว หมายถึงบิดาตามกฎหมายไม่ได้หมายรวมถึงบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดา หากจะหมายรวมถึงบิดาที่มิได้มีการสมรสกับมารดาด้วยกฎหมายจะบัญญัติไว้โดย แจ้งชัดเช่น ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นต้น เมื่อผู้ร้องทั้งห้าเกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติลาว แม้เกิดจากบิดาผู้มีสัญชาติไทยแต่ไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย ผู้ร้องทั้งห้าย่อมไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗ (๑) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๐  ส่วนหนังสือที่กระทรวงมหาดไทยมีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและปลัด กรุงเทพมหานคร ให้ถือปฏิบัติตามข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลตามพระราชบัญญัติ สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ที่ว่า ผู้เกิดนอกราชอาณาจักรไทย โดยบิดาผู้มีสัญชาติไทยกับมารดาผู้มีสัญชาติอื่น และบิดามิได้สมรสกับมารดาย่อมได้สัญชาติไทยตามเอกสารหมาย ร.๒๐ นั้น เห็นว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง หามีผลลบล้างกฎหมายไม่

ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องทั้งห้าฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน”

ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมาตรา ๖ บัญญัติว่า “ให้ เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕  “คำว่าบิดาตาม (๑) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม”  ในขณะมาตรา ๒๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “บท บัญญัติวรรคสองของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า

๑.จะต้องใช้กฎหมายของ ประเทศใดกำหนดสิทธิในสัญชาติลาวของนางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน ? เพราะเหตุใด ? หากเป็นกฎหมายไทย ขอให้ตอบด้วยว่า เป็นฉบับใด ?

๒.จะต้องใช้กฎหมายของ ประเทศใดกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน ? เพราะเหตุใด ? หากเป็นกฎหมายไทย ขอให้ตอบด้วยว่า เป็นฉบับใด ?

๓.ในปัจจุบัน นางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าว ? เพราะเหตุใด ? อย่างไร ?

--------

แนวคำตอบ

--------

ใน ประการแรก ผู้ออกข้อสอบต้องการให้ผู้สอบได้วางหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล พื้นฐานในเรื่องหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐและหลักการเลือกการกฎหมา จะเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องของสิทธิในสัญชาติหรือสถานะความเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยของ นางสาววิไลพรและน้องอีก ๔ คน ซึ่งเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ด้วยว่า เป็นเรื่องระหว่างรัฐและเอกชน จึงเป็นนิติสัมพันธ์ของเอกชนตามกฎหมายมหาชน แต่เป็นกรณีที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับ ๒ รัฐ กล่าวคือ รัฐไทย และรัฐลาว นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะระหว่างประเทศไทย

ในประการที่สอง ผู้ออกข้อสอบคาดหวังว่า นักศึกษาผู้สอบจะตอบข้อสอบตามประเด็นคำถามที่ผู้ออกข้อสอบได้ตั้งให้อย่างชัดเจน

สำหรับคำถามแรกนั้น เป็นการถามให้เลือกใช้กฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิในสัญชาติลาวของนางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน และ ให้เหตุผล ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติลาว ย่อมเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐลาวซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติลาวกับนางสาว วิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน ดังนั้น สิทธิดังกล่าวจะมีอยู่หรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎหมายลาวว่าด้วยสัญชาติลาว มิใช่กฎหมายไทย ทั้งนี้เพราะว่า โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏมีความตกลงระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวเป็นอย่างอื่น ก็จะต้องว่าตามกฎหมายลาวเท่านั้น

ในส่วนคำถามที่สองนั้น เป็นการถามให้เลือกกฎหมายใช้กฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของนางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในลักษณะเดียวกับ คำถามแรก กล่าวคือ จะต้องใช้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ซึ่งในกรณีตามคำถามนี้ เป็นการถามถึงสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติไทยกับนางสาววิไลพร และน้องทั้ง ๔ คน และเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน สิทธิดังกล่าวจะมีอยู่หรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทย มิใช่กฎหมายลาว

ใน คำถามสุดท้าย เป็นการถามความรู้ปัจจุบันของผู้สอบว่า เข้าใจถึงนัยยะของการแก้ไขกฎหมายใหม่ในเรื่องสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต จากบิดาหรือไม่  จะเห็นว่า นางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน ย่อมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด เพราะไม่มีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยกำหนดในขณะที่ เกิด กล่าวคือ ไม่ปรากฏว่า บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย

แต่ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ตีความคำว่า “บิดา” ในมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ให้หมายถึงทั้งบิดาตามข้อกฎหมายและตามข้อเท็จจริง และยังกำหนดให้การตีความนี้มีผลย้อนหลังไปใช้กับบุคคลที่เกิดก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

การกำหนดดังกล่าวย่อมมีผล ๒ ประการ กล่าวคือ

ในประการแรก บุคคลที่ไม่ได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาในขณะที่เกิด ย่อมได้รับผลดีจากการกำหนดให้การตีความนี้ย้อนหลังไปในอดีตด้วย กล่าวคือ บุคคลดังกล่าวจะเริ่มมีสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตั้งแต่ วันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผล กล่าวคือ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ อันเป็นวันที่ถัดจากวันที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ในราชกิจจานุเบกษา

ในประการที่สอง บุคคลที่เกิดตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จากบิดาตามข้อเท็จจริงที่มีสัญชาติไทย ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทย เฉกเช่นเดียวกับบุคคลที่เกิดจากบิดาตามข้อกฎหมายที่มีสัญชาติไทยที่เป็นมา โดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม การร้องขอใช้สิทธิย่อมจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

ดังนั้น หากนางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน ใช้สิทธิตามมาตรา ๗ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อเข้ารับการพิสูจน์ให้ได้ว่า นายยุทธเวทเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งกำลังจะออก มา และเมื่อการพิสูจน์เสร็จสิ้นลงและประสบความสำเร็จที่จะพิสูจน์ได้ตามกล่าว อ้าง นางสาววิไลพรและน้องทั้ง ๔ คน ย่อมจะมีสถานะเป็น “คนสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยการเกิด”

ปัญหา ก็คือ กฎกระทรวงดังว่า ยังไม่แล้วเสร็จ แม้ ๑ ปีผ่านไป หลังจากมาตรา ๒๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ สิทธิตามพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐสภาบังเกิดแล้วในวันดังกล่าว แต่การใช้สิทธิตามอนุบัญญัติดังกล่าวยังทำไม่ได้ เพราะกฎกระทรวงยังไม่ถูกประกาศใช้

http://learners.in.th/blog/archanwell-right2nationality/358675



--
โปรดอ่านบล็อก
http://www.pridiinstitute.com
http://www.nakkhaothai.com
http://apps.facebook.com/blognetworks/index.php
http://www.roundfinger.com/
http://twitter.com/sweetblog
http://twitter.com/oknewsblog
http://twitter.com/okblogger
http://twitter.com/sat191
http://www.pacc.go.th/
http://twitter.com/okblogchan
http://twitter.com/sun1951
http://twitter.com/smeblogger
http://twitter.com/seminarblog
http://twitter.com/sunnewsblog
http://twitter.com/okworldblog
http://twitter.com/ktblogger
http://twitter.com/sundayblog
http://twitter.com/mondayblog
http://twitter.com/tuesdayblog
http://twitter.com/wednesdayblog
http://twitter.com/thursdayblog
http://twitter.com/fridayblog
http://twitter.com/saturdayblog
http://www.deepsouthwatch.org/node/687

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น