คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น | | | | | มีคนกล่าวกันว่า "ในเมืองไทย ความยุติธรรม มักมาช้าเสมอ" ดังกรณีของพ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ผู้ซึ่งอุตสาห์บากหน้ามาทวงความยุติธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับ รองผบก.-สว.เมื่อครั้งที่ผ่านมา เพื่อเป็นบำเหน็จให้กับลูกแก้วเมียขวัญตลอดระยะเวลา 39 ปี ที่รับราชการตำรวจในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 3 จังหวัดชายอดนภาคใต้ โดยขอกลับไปดำรงตำแหน่งผกก.สภ.กันตัง จ.ตรัง ตามที่ได้รับการร้องขอจากภรรยา เนื่องจากเห็นว่า เป็นปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการลง ตลอดระยะเวลา 39 ปี ไม่น่าเชื่อว่า ครอบครัวของพ.ต.อ.สมเพียร ไม่เคยรู้จักกับการเลี้ยงฉลองปีใหม่ หรืออยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในเทศกาลสงกรานต์ อันเนื่องมาจากการทุ่มเททั้งกายและใจของพ.ต.อ.สมเพียรในการปฏิลัติหน้าที่ใน พื้นที่เสี่ยงภัยนั่นเอง จึงไม่มีวาระดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลไหนๆก็ตาม อย่าว่าแต่งานเลี้ยงฉลองตามวาระในเทศกาลต่างๆเลย แม้แต่ลูกและภรรยา ก็ยังไม่สามารถที่จะใช้นามสกุล"เอกสมญา"ได้ อันเนื่องมาจาก พ.ต.อ.สมเเพียร รู้ตัวเองดีว่า "เอกสมญา"นั้น เป็นที่หมายปองของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการปราบปรามอย่างจริงจังของพ.ต.อ.สมเพียร ทำให้ลูกเมียต้องยอมฝืนทนฝืนกลั้นไม่ใช้นามสกุล"เอกสมญา" เพื่อความปลอดภัย ตามความปรารถนาของพ.ต.อ.สมเพียร "ภูมิใจที่สามีได้ทำหน้าที่จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต แต่เสียใจตรงที่ไม่ได้ย้าย หากได้ย้ายก็คงไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น รู้สึกผิดหวังกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพราะสามีเป็นคนทำงานทุ่มเทเสียสละ แต่ไม่เคยขออะไรจากกรมตำรวจเลย การเดินทางไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมเรื่องการโยกย้ายก็เพราะมีความต้องการ ที่จะอยู่กับครอบครัวและลูกหลานในบั้นปลายของชีวิต และสามีเคยพูดเสมอว่าจะไม่ขอตายในเครื่องแบบ "นางพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ ภรรยาพ.ต.อ.สมเพียรกล่าวไว้ "สามีเคยบอกว่าก่อนจะเกษียณราชการ อยากจะขอเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และชีวิตของสามีเมื่ออยู่บ้านก็เหมือนกับตาแก่คนหนึ่งที่อยู่บ้านเลี้ยงหลาน เป็นคนใจดีไม่ว่ากับครอบครัวหรือลูกน้อง และเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาไม่กลัวใคร ชีวิตในครอบครัวไม่เคยมีวันปีใหม่ ไม่มีวันสงกรานต์ หรือเทศกาลสำคัญใดๆ เพราะสามีบอกว่าจะต้องไปอยู่โรงพักเตรียมความพร้อมและดูแลลูกน้อง จึงต้องทนอดกลั้นมาโดยตลอด สุดท้ายนี้อยากจะบอกกับสามีว่า พ่อผิดคำพูดที่บอกว่าจะไม่ขอตายในเครื่องแบบ เมื่อเกษียณอยากจะไปนั่งร้านน้ำชา นินทาเพื่อน อยากจะอยู่กับครอบครัวที่มีทั้งพ่อแม่ลูกและหลานๆพร้อมหน้า แต่ก็ต้องมาเสียชีวิตไปก่อน"นางพิมพ์ชนากล่าวทั้งน้ำตา ภายหลังการสิ้นลมหายใจของพ.ต.อ.สมเพียร ดูเหมือนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ค่อนข้างจะกระตือรือล้นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนที่พ.ต.อ.สมเพียร ไปร้องเรียนกับนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เนื่องมาจาก สื่อทุกแขนงได้นำเสนอเรื่องราวความเป็น"นักสู้ผู้กล้า"ของพ.ต.อ.สมเพียร ไปสู่สาธารณชน พล.ต.ต.โชติกร สีมันตร ผบก.สกพ. ระบุภายหลังว่า การร้องเรียนเรื่องโยกย้ายของ พ.ต.อ.สมเพียร ทาง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร. ได้รับมติจาก ก.ตร.ให้สำนักงานกำลังพล ดำเนินการปรับอัตราตำแหน่งจำนวน 1 อัตรา ให้กับจังหวัดตรังเพื่อรองรับการแต่งตั้ง พ.ต.อ.สมเพียร ขึ้นเป็นรอง ผบก.ภ.จ.ตรัง โดยจะมีการเสนอขออนุมัติในการประชุม ก.ตร. เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งข้ามหน่วยต้องขออนุมัติยกเว้นหลัก เกณฑ์ กับ ก.ตร. แม้จะมีคุณสมบัติไม่ครบ เนื่องจากการจะขึ้นจากตำแหน่ง ผกก.เป็นรอง ผบก.ต้องดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี แต่ พ.ต.อ.สมเพียร เพิ่งดำรงตำแหน่ง 3 ปีเศษ โดยเสนอให้ ก.ตร.อนุมัติการแต่งตั้งนอกวาระประจำปี และจะประชุมในวันที่ 19 มี.ค. แต่น่าเสียใจที่ทำไม่ทัน นอกจากนี้ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ออกมากล่าวในทิศทางเดียวกันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังดำเนินการเยียวยาอยู่ แต่มาเกิดเรื่องเสียก่อน ซึ่งเรื่องนี้ พ.ต.อ.สมเพียร เคยพุดกับเพื่อนสนิท ซึ่งอบรมรมโรงเรียนผกก.รุ่นเดียวกันไว้หลังจากที่เดินทางเข้ามาร้องเรียนว่า เรื่องที่ร้องเรียนไปยังเงียบฉี่ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่โรงพักแล้ว จะขอลางานขึ้นกรุงเทพฯไปตามเรื่องอีกครั้ง คำปรารภของพ.ต.อ.สมเพียร ที่มีกับเพื่อนคนสนิท หมายความว่าอย่างไร เพราะหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จริงใจที่จะเยียวยาพ.ต.อ.สมเพียรด้วยใจจริง มีหรือที่เรื่องจะไม่ระแคะระคายไปถึงหูพ.ต.อ.สมเพียรบ้าง และทำไมพ.ต.อ.สมเพียร จะต้องปรารภว่า "จะขึ้นกรุงเทพนอีกครั้งเพื่อตามเรื่องนี้" แม้จะมีคำแสดงความเสียใจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับครอบครัว"เอก สมญา"แล้วก็ตาม แต่นั่น ก็มีค่าแค่เพียงมารยาททางสังคมเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงที่ ทำไมพ.ต.อ.สมเพียร ที่มีชื่อไปปรากฏเป็นผกก.สภ.กันตัง จ.ตรัง ตั้งแต่โผบัญชีรายชื่อครั้งแรก จึงหล่นหายไปในคำสั่งแต่งตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจะหา"มือริยำ"ที่ดึงชื่อพ.ต.อ.สมเพียรออก และใส่ชื่อ นายตำรวจผู้อื่นไปแทน ซี่งเชื่อว่า น่าจะหาตัวได้ไม่ยาก และ"มือริยำ" มือนั้น ก็คือมือที่หยิบยื่นความตายให้กับพ.ต.อ.สมเพียร การเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ ไม่จำเป็นต้องได้รับการสรรเสริญ แต่ถือเป็นหน้าที่ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว และหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะไม่"ตอแหล"ซ้ำสองด้วยการบอกว่า กำลังพิจารณาหาตำแหน่งให้พ.ต.อ.สมเพียรอยู่ แต่มาเกิดเรื่องเสียก่อน ดูจะเป็นการแก้ตัวที่ค่อนข้างง่ายไปหน่อย ดังนั้น การจะเยียวยาพ.ต.อ.สมเพียรในครั้งนี้ ควรจะยึดถือเจตนารมณ์ของพ.ต.อ.สมเพียรเป็นหลัก นั่นคือ การดูแลเอาใจใส่ให้กับกำลังพลในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นของขวัญส่งวิญญาณให้พ.ต.อ.สมเพียร สู่สุคติภพ เพราะ"พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา" ไม่ได้ถูกสังหารจากผู้ก่อการร้าย แต่ถูกสังหารด้วยมือของคนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง อย่างเลือดเย็น! ขอคาระวะแด่ดวงวิญญาณของพ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ด้วยความศรัทธายิ่ง ภาคผนวก: "จ่าเพียร กระดูกเหล็ก" เข้ารับราชการครั้งแรกหลังจบโรงเรียนตำรวจภูธร เป็นตำรวจลูกแถวยศพลตำรวจอยู่ที่ สภ.บันนังสตา ผ่านการปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนับร้อยครั้ง จนเป็นที่ครั่นคร้ามของกลุ่มแนวร่วมและรู้จักกันในแวดวงตำรวจ-ทหารในชื่อ "จ่าเพียร" และได้รับฉายา"จ่าเพียร กระดูกเหล็ก" เพราะใช้การเดินเท้าเป็นหลักในการลาดตระเวณ กระทั่งกรมตำรวจ (ในสมัยนั้น) อนุมัติให้เข้าอบรมหลักสูตรนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรโดยไม่ต้องสอบคัดเลือกได้ เลื่อนยศเป็น "ร.ต.ต." จนกระทั่งปี 2519 ขณะปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย ถูกระเบิดที่ขาซ้ายเกือบขาดแต่ยังรอดมาได้ ปี 2526 ถูกคนร้ายยิงในพื้นที่อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้รับบาดเจ็บกระสุนฝังใน กระทั่งปี 2550 กลับมารับราชการเป็น ผกก.สภ.บันนังสตา ออกกวาดล้างจับกุมโจรใต้ทั้งจับเป็นและจับตายนับสิบคดี จนกระทั่งล่าสุดถูกโจรใต้ใช้ จยย.บอมบ์หมายจะสังหารเมื่อวันที่ 18 ก.พ.แต่ก็ยังรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด พ.ต.อ.สมเพียรได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญมาลาเข็มกล้ากลางสมร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และกระทำพิธี ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2525 และนับเป็น ตำรวจเพียงคนเดียวในขณะมียศ "จ่าสิบตำรวจ" ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น นอกจากนี้ พ.ต.อ.สมเพียร ยังได้รับพระราชทาน และประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย เช่น ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นสอง ประเภทหนึ่ง ได้รับประกาศนียบัตร ”ผู้มีผลงานสู้รบดีเด่น” จากกระทรวงมหาดไทย ได้รับเข็มรักษาดินแดนสดุดี จากกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบเกียรติบัตรผู้ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติด้วยความเสียสละ จากองค์การทหารผ่านศึก ไดัรับประกาศผู้มีผลงานดีเด่นด้านการปราบปราม จากกองบัญชาการตำรวจภูธร 9 ได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่า โรงเรียนตำรวจภูธร 9 ดีเด่น ได้รับหนังสือสำคัญ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต ) ยกย่องเชิดชู เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน และรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง ด้วยความเข้มแข็งเสียสละ ฯลฯ วันที่ 12 มีนาคม 2553 ในขณะที่ พ.ต.อ.สมเพียร นั่งรถยนต์กระบะยี่ห้อโต้โยต้าไฮลักซ์วีโก้ 4 ประตู สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียน กข 9302 ยะลา พร้อมลูกน้อง 3 นาย และ อส.คนสนิท อีก 1 นาย ออกไปติดตามหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลังทราบข่าวว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้ออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ เมื่อขับรถยนต์มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม จำนวน 5-8 คน กดระเบิดที่ฝังไว้ และใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ จำนวนหลายชุด เกิดการปะทะกันประมาณ 10 นาที เมื่อกำลังเสริมเข้าไปกลุ่มคนร้ายได้ล่าถอยเข้าไปในป่า แรงระเบิดและคมกระสุนส่งผลให้ พ.ต.อ.สมเพียร ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตที่ รพ.ศูนย์ยะลา หลังจากที่ พ.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต วันที่ 13 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาตอบแทนให้เลื่อนขั้น 7 ขั้นยศ เป็น พล.ต.อ. มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมอบเงินสวัสดิการตำรวจที่จะช่วยเหลือแก่ครอบ ครัวผู้เสียชีวิตจำนวนเงิน 3 ล้านบาท พร้อมดูแลการศึกษาของทายาทจนจบระดับปริญญาตรี หรือการรับเข้าทำงานราชการตำรวจต่อไป | | |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น