หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"- เป็นบางส่วนของคำวินิจฉัยส่วนตนของนายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกาและ นายกำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 2 ผู้พิพากษาในองค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กว่า 46,000 ล้านบาท โดยผู้พิพากษาทั้ง 2 รายดังกล่าวมีความเห็นว่า ควรยึดทรัพย์ ทั้งหมด 76,000 ล้านบาท ของพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ณ ป้อมเพชร อดีต ภรรยา ด้วยเหตุผล 2 ประการ
ประการแรก ไม่จำต้องแยกทรัพย์สินที่พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 มีอยู่ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปแต่อย่างใด เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณดำเนินการที่ต้องห้ามโดยแจ้งชัด และเมื่อได้รับการไต่สวนโดยกระบวนการทางศาลโดยชอบแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ ตามข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับได้รับทรัพย์สินที่เป็นฐานที่ใช้ในการกระทำผิดกลับคืนไป ย่อมจะไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ของการให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการ ร่ำรวยผิดปกติได้เลย
ประการสอง พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1(คุณหญิงพจมาน) ใช้หุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯ ตลอดมา มิใช่เพียงแต่ถือหุ้นโดยฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น แต่ได้ใช้หุ้นที่พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 ถือครองอยู่เป็นปัจจัยสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ หาก คืนส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า มีอยู่ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 ยอมขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้ผู้ที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของเหตุผลในคำวินิจฉัยส่วนตนของผู้พิพากษาทั้ง2 คน
------------------------------------------
นายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกา
การกระทำอันไม่สมเหตุสมผลและมิชอบด้วยกฎหมายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ ตนเองในระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตลอดดังที่ได้วินิจฉัยไปข้างต้น และในระหว่างที่พ.ต.ทงทักษิณ เป็นหัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 จนผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และออกเป็น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งได้แก้ไข (1) ของมาตรา 8 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการ ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และไม่มีบทบัญญัติให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ที่ได้แก้ไขได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549 ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2549 พ.ต.ท. ทักษิณได้รวบรวมหุ้นจำนวน 1,419,490,150 หุ้น ขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กแห่งประเทศสิงคโปร์ได้จำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่า ใช้จ่ายแล้วรวม 67,722,880,932.05 บาท และตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2548 บริษัทชินคอร์ปจ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นเงิน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด 76,621,603,061.05 บาท
ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีภาระการพิสูจน์ว่า ทรัพย์หรือเงินที่ได้มาดังกล่าวนั้นมิได้เป็นทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือ เกิดขึ้นจากการร่ำรวยผิดปกติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง พ.ร.บ.บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง นั้นก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ให้รับฟังได้ว่าเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นทั้ง หมดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นจากความร่ำรวยผิดปกติ
ดังนั้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกผลทั้งหมดจึงถือ ได้ว่า เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และเป็นการได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม โดยเป็นทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติโดยไม่สมควรสืบเนื่องจาก การปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งจะต้องตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติ โดยเงินที่ได้จากการขาย หุ้นบริษัทชินคอร์ปและเงินปันผลที่ได้รับเนื่องจากการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ ปซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้ อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีของพ.ต.ท.ทักษิณ และจะต้องมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเสียทั้งสิ้น
ทั้งนี้ตามประกาศคณะปฏิรูการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 และมาตรา 81
ส่วนในปัญหาที่ว่า ทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณที่มีอยู่ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีจำนวน เท่าใด และจะต้องนำมาหักออกจากทรัพย์สินที่จะต้องตกเป็นของแผ่นดินก่อนหรือไม่นั้น
เห็นว่า มูลเหตุและทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ชี้มูลความผิดและที่ผู้ร้อง (อัยการสูงสุด)ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมืองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดินนั้นเกี่ยวกับเรื่อง ที่ในระหว่างที่พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมที่มีทรัพย์เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติโดยพ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านที่ 1 (คุณหญิงพจมาน)คู่สมรสยังคงร่วมกันถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่มีการถือครองมา ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้มีการร่วมกัน ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปและมิได้เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวอีก แล้วมาตั้งแต่ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีออกมาตรการในรูปแบบต่างๆ กันไปเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กิจการในเครือบริษัทชินคอร์ปที่พ .ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 คู่สมรสยังคงถือครองหุ้นอยู่ดังกล่าวต่อเนื่องมาจนกระทั่งได้มีการรวบรวม หุ้นบริษัทดังกล่าวขายออกไปทั้งหมด ซึ่งเป็นผลให้พ.ต.ท.ทักษิณได้รับเงินค่าขายหุ้นและผลประโยชน์จากการถือครอง หุ้นคือเงินปันผล ผู้ร้องจึงได้ร้องขอให้เงินดังกล่าวพร้อมดอกผลทั้งหมดอันได้รับมาสืบเนื่อง จากการถือครองหุ้นดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านที่ 1 เป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ว่า เงินที่ได้มาดังกล่าวมิได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือเกิดจากการ ร่ำรวยผิดปกติ
แต่พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 กลับคัดค้านปฏิเสธว่า มิใช่หุ้นหรือเงินหรือทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ได้มีอยู่เท่าใดในช่วงเวลาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือในช่วงเวลา หนึ่งเวลาใดหลังจากนั้น และถือได้ว่า เงินที่ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปและประโยชน์จากการที่ยังคงถือครองหุ้นดังกล่าว ไว้คือเงินปันผลพร้อมดอกผลทั้งหมดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการที่มี ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือการร่ำรวยผิดปกติซึ่งจะต้องตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80
ทั้งทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินในคดีนี้เป็น หุ้นซึ่งมูลค่าของหุ้นมีความไม่แน่นอน การขึ้นลงของราคาหุ้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และหุ้น บริษัทชินคอร์ปที่ พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ยังคงร่วมกันฝ่าฝืนถือหุ้นนั้นไว้นี้ย่อมถือได้ว่า เป็นฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หน้าที่ดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้หุ้นดังกล่าว
เพราะหากไม่มีหุ้นดังกล่าวอยู่ในขณะที่พ .ต.ท.ทักษิณ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ย่อมที่จะมีการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจใน ตำแหน่งหน้าที่ในกรณีทั้งห้าตามข้อกล่าวหาเพื่อเอื้อประโยชน์ไม่ได้
หรือในทางกลับกันหากพ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ได้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่ แต่พ.ต.ท.ทักษิณมิได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจที่จะเกิดการ ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนก่อให้เกิดความเสียหาย แก่รัฐ และเป็นเหตุให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้
ส่วนทรัพย์สินที่ได้มาสืบเนื่องมาแต่การปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจ ในหน้าที่นั้นหากไม่มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปออกไป ทรัพย์สินที่จะต้องตกเป็นของแผ่นดินก็คือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปที่พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ได้ร่วมกันฝ่าฝืนถือไว้และเป็นทรัพย์สินที่พ.ต.ท.ทักษิณได้มาสืบเนื่องมาจาก การปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นั่นเองที่จะต้องตกเป็นของ แผ่นดิน
แต่เมื่อได้มีการขายหุ้นดังกล่าวออก ไปทั้งหมดเสียแล้วทรัพย์สินที่จะต้องตกเป็นของแผ่นดินก็คือเงินที่ได้จากการ ขายหุ้นและเงินปันผลที่ได้รับจากหุ้นดังกล่าวพร้อมดอกผล
ดังนั้นจึงไม่จำต้องแยกทรัพย์สินที่พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 มีอยู่ก่อนที่พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกไปแต่อย่างใด เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินการที่ต้องห้ามโดยแจ้งชัด และเมื่อได้รับการไต่สวนโดยกระบวนการทางศาลโดยชอบแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ ตามข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติ
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับได้รับทรัพย์สินที่เป็นฐานที่ใช้ในการกระทำผิดกลับคืนไป ย่อมจะไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ของการให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการ ร่ำรวยผิดปกติได้เลย
ทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านที่ 1 ต้องห้ามมิให้ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปซึ่งหมายถึงหุ้นที่ถืออยู่ทั้งจำนวนมิ ได้แยกส่วนที่มีอยู่เดิมออกเป็นต่างหาก การได้รับคืนบางส่วนจึงขัดแยังกัน ข้อต่อสู้ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
---------------------------------
นายกำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
ย่อมเห็นได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับประโยชน์จากมาตรการทั้งห้ามาตราการอย่างมากมาย พฤติการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1(คุณหญิงพจมาน) ใช้หุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯ ตลอดมา มิใช่เพียงแต่ถือหุ้นโดยฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น แต่ได้ใช้หุ้นที่พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 ถือครองอยู่เป็นปัจจัยสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์
หากไม่สั่งให้เงินค่าหุ้นกับเงินปันผลจำนวน 76,621,603,061.05 บาทตกเป็นของแผ่นดินทั้งจำนวน โดยคืนส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า มีอยู่ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 ยอมขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ผู้ที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นเดียวกับพ .ต.ท.ทักษิณไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย
เพราะหากหน่วยงานของรัฐสามารถสืบเสาะค้นหาจน พบว่า บุคคลผู้นั้นกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้อง ก็ขอให้ศาลริบได้แต่ผลกำไรเท่านั้น ส่วนต้นทุนต้องคืนให้แก่ผู้นั้นได้ อันมีลักษณะเป็นการแบ่งทรัพย์สินให้แก่กันโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรการในการป้องกันการกระทำอันเป็นการเอื้อ ประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือพวกพ้องจนก่อให้เกิดผลเสียหายแก่รัฐจะไม่สัมฤทธิ์ผล ได้เลย ทั้งยังเป็นช่องให้มีการกระทำในลักษณะเช่นนี้อย่างแพร่หลาย
เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 110,208,209,308 ถึง 311 และมาตรา 329 (2) อันเป็นที่มาของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 แล้ว จึงมีความเห็นว่า เงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ต้องตกเป็นของแผ่นดินทั้งจำนวน
ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อสู้ว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่พ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส หากศาลมีคำสั่งให้เงินจำนวนนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ที่ต้องกันทรัพย์สินส่วนที่เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ก่อน
เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของพ.ต.ท.ทักษิณและมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณในเงินจำนวน 76,621,603,061.05 บาท ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนร่วมในการดำเนินการของพ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นลำดับ นับแต่การออกเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทชินคอร์ปฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542 ในนามของผู้คัดค้านที่ 1 เอง พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 5 (นายบรรณพจน์ ดมาพงศ์)รวมทั้งออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน สั่งจ่ายเงินจำนวน 330,961,220 บาท ให้บริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด นำไปชำระค่าหุ้นที่ซื้อจากพ.ต.ท.ทักษิณ และการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2(นายพานทองแท้) และที่ 5 (นายบรรณพจน์) จำนวน 42,475,000 หุ้นละ 26,825,000 หุ้นตามลำดับ ซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่ใช่การซื้อขายกันอย่างจริงจัง
ถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯ ตามคำรองของผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจขอให้คืนทรัพย์สินส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้
สำหรับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 20 นั้น (กรรมการและบริษัทครอบครัวชินวัตร)เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 20 อ้างว่า เป็นของตนล้วนแต่เป็นเงินที่ได้มาจากการที่พ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ขายหุ้นให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ทั้งสิ้น
สำหรับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงผู้คัดค้านที่ 5 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำ ส่วนผู้คัดค้านที่ 6(นางบุษบา ดามาพงศ์) ที่อ้างว่าเงินจำนวน 40,000,000 บาทที่ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) อายัดและขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 5(นายบรรณจน์) ยกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 6 โดยเสน่หาและได้มาจากการขายหุ้นส่วนของตนจำนวน 159,000 หุ้น รวมเป็นเงิน 7,839,273.70 บาท
เห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยแล้วว่าหุ้นของ บริษัทชินคอร์ปฯ ที่ผู้คัดค้านที่ 5 ถืออยู่เป็นของพ.ต.ท.ทักษิณกับผู้คัดค้านที่ 1 ประกอบกับทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านที่ 6 ได้เงินจำนวนนี้มาอย่างไร จึงต้องรับฟังว่า เงินจำนวน 40,000,000 บาทที่ผู้คัดค้านที่ 5 โอนให้ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นการโอนให้โดยเสน่หา จึงถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ และผู้คัดค้านที่ 6 ได้รับมาโดยไม่มีค่าตอบแทน ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ 6 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนผู้คัดค้านที่ 9 ถึงที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 20 และที่ 21 นั้น เห็นว่าผู้คัดค้านดังกล่าวต่างเป็นนิติบุคคล โดยมีผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 นางกาญจนาภา หงส์เหิน นายสมบูรณ์ คุปติมนัส นายชานนท์ สุวสิน นางดวงฤทัย กสิโสภา นางสาวลัดดาวัลย์ ศรชัย และนางสาวเพ็ญนภัสสร์ นภาทิวอำนวย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้คัดค้านที่ 9 ถึงที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 20 และที่ 21 ทั้งบุคคลดังกล่าวล้วนเป็นเครือญาติและบริวารของพ.ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งสิ้น
ประกอบกับที่ทำการของนิติบุคคลดังกล่าวส่วน ใหญ่เปิดทำการอยู่บนอาคารเลขที่เดียวกัน เหตุที่ได้รับเงินมาเนื่องจากการออกหุ้นเพิ่มทุนภายหลังจากการที่พ .ต.ท.ทักษิณและผู้คัดค้านที่ 1ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ให้แก่กลุ่มเทมาเส็กแล้วทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทผู้คัดค้าน เหล่านั้นก็คือ ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 กับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นถือหุ้นเพียง 1 ถึง 2 หุ้นเท่านั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 20 ถึงที่ 21 เป็นผู้รับโอนทรัพย์สินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
จึงวินิจฉัยให้เงินที่ได้มาจากเงินปันผลและการขายหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปฯ จำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลเฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันฝากเงินจนถึงวัน ที่ธนาคารส่งเงินจำนวนดังกล่าวมายังศาลตกเป็นของแผ่นดิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น