ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.สรรหา) ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม เพื่อขอให้ตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากสงสัยว่าซุกหุ้น โดยการโอนหุ้นต่างๆ ให้กับลูก ใกล้เคียงกับการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่งมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวนกว่า 4.6 หมื่นล้าน
นายเรืองไกร ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเข้ารับตำแหน่งวันที่ 22 มกราคม 2551 และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเข้ารับตำแหน่งวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ใน www.nacc.go.th ซึ่งเป็นของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พบว่า
เมื่อเข้ารับตำแหน่งวันที่ 22 มกราคม 2551 คุณหญิงกัลยา แจ้งบัญชีว่า มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเป็นเงิน 538,818,178.09 บาท
เมื่อเข้ารับตำแหน่งวันที่ 22 ธันวาคม 2551 คุณหญิงกัลยา แจ้งบัญชีว่า มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินเป็นเงิน 423,701,321.97 บาท
การแจ้งบัญชีทั้งสองครั้งข้างต้น เห็นได้ในเบื้องต้นว่า มีทรัพย์สินสุทธิลดลง เป็นเงิน 538,818,178.09 ลบ 423,701,321.97 เท่ากับ 115,116,856.12 บาท
จากการเปรียบเทียบบัญชีทรัพย์สินทั้งสองครั้ง เพื่อหาผลต่างของบัญชีทรัพย์สินที่ลดลงกว่า "หนึ่งร้อยล้านบาท" พบต่อว่า
บัญชีเงินลงทุนของคู่สมรส (นายโชติ โสภณพนิช) จำนวน 458,414,980.20 บาท ที่แจ้งไว้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ลดลงเหลือจำนวน 61,591,122.94 บาท เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ซึ่งคำนวณแล้วเท่ากับว่า เงินลงทุนของคู่สมรส ลดลง 396,823,857.26 บาท
ในการไปตรวจสอบเอกสารประกอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่สำนักงาน ป.ป.ช. ของคุณหญิงกัลยา พบว่า เงินลงทุนของคู่สมรสในบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ลดลงไป 100 ล้านบาท โดยแสดงเงินลงทุนดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ว่ามีจำนวน 100 ล้านบาท แต่ไม่พบว่ามีการแสดงเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าวในคราวแสดงบัญชีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 แต่อย่างใด
นอกจากนั้น ยังพบว่า เงินลงทุนของคู่สมรสในบริษัท วัฒนโชติ จำกัด ลดลงไป 287,400,000 บาท โดยแสดงเงินลงทุนดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ว่ามีจำนวน 328,142,000 บาท แต่ได้มีการแสดงเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าวในคราวแสดงบัญชีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ไว้เป็นเงิน 40,742,000 บาท
จำนวนเงินลงทุนในบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ที่ลดลง 100 ล้านบาท เป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญต่อทรัพย์สินรวมที่ลดลงสุทธิ 115,116,856.12 บาท ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวที่ยื่นไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 กรรมการบริษัทได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2551 มีการแจ้งผู้ถือหุ้นที่เข้ามาใหม่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 4 ราย คือ
1. นางโชติยา อาฮูยา เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด มูลค่าหุ้นละ 100 บาทจำนวน 330,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 4996965 – 5326964
2. น.ส.สุภณา โสภณพนิช เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด มูลค่าหุ้นละ 100 บาทจำนวน 330,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 5326965 – 5656964
3. นางกิติยา โสภณพนิช เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด มูลค่าหุ้นละ 100 บาทจำนวน 330,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 5656965 – 5986964
4. บริษัท ซี.เอส. แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด มูลค่าหุ้นละ 100 บาทจำนวน 10,000 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 5986965 – 599964
การพิจารณาเลขหมายใบหุ้นทำให้พอเข้าใจได้ว่า มีการโอนหุ้นตามหมายเลขหุ้นเดิมให้กับบุคคลทั้ง 4 ข้างต้น ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา 3 คน และเป็นนิติบุคคล 1 ราย โดยบุคคลธรรมดาทั้งสาม คือบุตรีของคุณหญิงกัลยากับคู่สมรส ตามที่ได้แจ้งไว้ในแบบแสดงรายการ โดยทั้งสามคนเป็นบุตรในสมรสทั้งสิ้น
ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ณ วันที่ 17 กันยายน 2551 แจ้งไว้ว่า มีทุนจดทะเบียนเป็นหุ้นสามัญทั้งสิ้น 7,160,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีผู้ถือหุ้นรวม 11 คน เป็นคนไทย 10 คน เป็นต่างด้าว 1 คน ซึ่งผู้ถือหุ้นต่างด้าวที่แจ้งไว้ คือ ออฟชอร์ เอ็นเนอร์ยี่ แอล.แอล.ซี. สัญชาติ อเมริกา อาชีพ ค้าขาย ที่อยู่ 1013 เซ็นเตอร์โรด วิลมิงตัน เดลาแวร์ 19805 สหรัฐอเมริกา ถือหุ้นไว้เป็นจำนวน 1,163,036 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 5996965 – 7160000 ใบหุ้นลงวันที่ 1 เมษายน 2547 วันลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น วันที่ 1 เมษายน 2547
จากการพิจารณาข้อมูลในเบื้องต้นตามที่มีแจ้งไว้กับสำนักงาน ป.ป.ช. ประกอบกับข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ที่ยื่นไว้ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้เห็นแนวทางการโอนหุ้นจากคู่สมรสของคุณหญิงกัลยาที่เคยแจ้งการถือครองหุ้นไว้ในบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด จำนวน 100 ล้านบาท ว่า อาจจะมีการโอนหุ้นดังกล่าวไปไว้กับบุตรีทั้งสามคนเป็นมูลค่าตามราคาทุน 99 ล้านบาท และโอนไปไว้ในบริษัท ซี.เอส. แคปปิตอล จำกัด เป็นมูลค่าตามราคาทุน 1 ล้านบาท
จำนวนหุ้นในบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ที่ลดลงไป 1,000,000 หุ้น เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่วันหลังวันที่ 22 มกราคม 2551 ที่คุณหญิงกัลยา รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อาจจะเป็นเพราะบริษัทพลังโสภณสอง จำกัด เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจหลักในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทะเล ที่ดำเนินการในแปลงสัมปทาน บี 8/32 และแปลง 9 เอ ซึ่งประกอบด้วยสัมปทานเลขที่ 1/2534/36 และ สัมปทานเลขที่ 4/2546/61 ตามลำดับ
กรณีการแจ้งบัญชีเงินลงทุนของคู่สมรสที่ถือครองหุ้นบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด จำนวน 100 ล้านบาท นั้นจึงมีประเด็นที่ควรจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงบัญชีทรัพย์สินหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เงินลงทุนของคู่สมรสในบริษัท วัฒนโชติ จำกัด ที่แสดงว่า ลดลงไปเป็นเงิน 287,400,000 บาทนั้น ในคราวแสดงบัญชีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ปรากฏว่า ในส่วนของเงินให้กู้ยืม คู่สมรสได้แสดงว่า มีเงินให้กู้ยืม จำนวน 287,400,000 บาท เช่นเดียวกัน โดยแสดงรายละเอียดว่า เป็นเงินกู้ยืมแก่บุตรีทั้ง 3 คน ดังนี้
1. นางโชติยา อาฮูยา กู้ยืมเงินจำนวน 95,800,000 บาท โดยแสดงหลักฐานประกอบการกู้เงินไว้เป็นสัญญากู้เงิน ทำที่ 25 อาคารกรุงเทพประกันภัย ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ในสัญญาข้อ 1. ระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินที่กู้ไว้ครบถ้วนแล้วในขณะทำสัญญานี้ และข้อ 2. ระบุว่า ผู้กู้จะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แต่ถ้าผู้ให้กู้ประสงค์จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เกินไปจากที่กฎหมายกำหนด ผู้กู้ก็จะไม่โต้แย้งแต่ประการใด ๆ
2. น.ส.สุภณา โสภณพนิช กู้ยืมเงินจำนวน 95,800,000 บาท โดยแสดงหลักฐานประกอบการกู้เงินไว้เป็นสัญญากู้เงิน ทำที่ 25 อาคารกรุงเทพประกันภัย ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ในสัญญาข้อ 1. ระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินที่กู้ไว้ครบถ้วนแล้วในขณะทำสัญญานี้ และข้อ 2. ระบุว่า ผู้กู้จะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แต่ถ้าผู้ให้กู้ประสงค์จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เกินไปจากที่กฎหมายกำหนด ผู้กู้ก็จะไม่โต้แย้งแต่ประการใด ๆ
3. นางกิติยา โสภณพนิช กู้ยืมเงินจำนวน 95,800,000 บาท โดยแสดงหลักฐานประกอบการกู้เงินไว้เป็นสัญญากู้เงิน ทำที่ 25 อาคารกรุงเทพประกันภัย ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ในสัญญาข้อ 1. ระบุว่า ผู้กู้ได้รับเงินที่กู้ไว้ครบถ้วนแล้วในขณะทำสัญญานี้ และข้อ 2. ระบุว่า ผู้กู้จะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แต่ถ้าผู้ให้กู้ประสงค์จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่เกินไปจากที่กฎหมายกำหนด ผู้กู้ก็จะไม่โต้แย้งแต่ประการใด ๆ
จากการตรวจสอบเอกสารการกู้เงินดังกล่าวทั้งสามฉบับ พบว่า สัญญาทำขึ้นที่เดียวกัน วันที่เดียวกัน ข้อความเหมือนกัน เปลี่ยนเฉพาะชื่อผู้กู้และที่อยู่เท่านั้น
เมื่อตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท วัฒนโชติ จำกัด ที่แจ้งไว้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมือวันที่ 15 ธันวาคม 2551 กรณีมีการโอนหุ้น พบว่า
1. นางโชติยา อาฮูยา เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท วัฒนโชติ จำกัด มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาทจำนวน 95,800 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 041103 – 136902
2. นางกิติยา โสภณพนิช เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท วัฒนโชติ จำกัด มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาทจำนวน 95,800 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 136903 – 232702
3. น.ส.สุภณา โสภณพนิช เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท วัฒนโชติ จำกัด มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาทจำนวน 97,322 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 232703 – 330024 และอีกจำนวน 285 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 331010 – 331294
ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท วัฒนโชติ จำกัด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 แจ้งว่า มีทุนเป็นหุ้นสามัญทั้งสิ้น 820,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท เป็นผู้ถือหุ้นคนไทย 7 คน และเป็นผู้ถือหุ้นต่างด้าว 1 คน
ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเงินลงทุนในส่วนของคู่สมรสที่ถือครองหุ้นในบริษัท วัฒนโชติ จำกัด จากเดิมที่ถือครองหุ้นเป็นเงิน 328,142,000 บาท คิดเป็นจำนวน 328,142 หุ้น เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 มาเป็นการถือครองหุ้นคงเหลือในวันที่ 22 ธันวาคม 2551 เป็นเงิน 40,742,000 บาท คิดเป็น 40,742 หุ้น หรือถ้าคิดเป็นร้อยละต่อจำนวนหุ้นทั้งหมด 820,000 หุ้น จะได้ว่า เดิมคู่สมรสถือครองหุ้นในบริษัท วัฒนโชติ จำกัด เมื่อวันที่22 มกราคม 2551 ประมาณร้อยละ 40 และมาลดการถือครองหุ้นลงเหลือประมาณร้อยละ 4.97 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2551 เพียงไม่กี่วันก่อนวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่คุณหญิงกัลยา จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดังนั้น จากการพิจารณาข้อมูลการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในกรณีรับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 เปรียบเทียบกับ ในกรณีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ซึ่งพบการเปลี่ยนแปลงในเงินลงทุนของคู่สมรส ที่เคยถือครองอยู่ในบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ประมาณร้อยละ 13.97 และที่เคยถือครองอยู่ในบริษัท วัฒนโชติ จำกัด ประมาณร้อยละ 40 มาเป็นการไม่ถือครองหุ้นในบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด และการถือครองหุ้นในบริษัท วัฒนโชติ จำกัด เหลือเพียงประมาณร้อยละ 4.97 นั้น กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่คุณหญิงกัลยาจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า รัฐมนตรีจะถือครองหุ้นในบริษัทใดๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ทำให้อาจมองได้ว่า การลดลงในเงินลงทุนของคู่สมรสนั้น อาจเข้าลักษณะการนำทรัพย์สินที่เป็นเงินลงทุนในบริษัทดังกล่าวทั้งสอง ไปฝากไว้กับบุคคลในครอบครัว โดยประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้เมื่อพิจารณากระบวนการโอนหุ้นหรือการลดลงในหุ้นของบริษัท วัฒนโชติ จำกัด ตามหลักการบันทึกบัญชี ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่า การลดลงของหุ้นนั้น อาจเป็นเพียงวิธีการทางบัญชีที่เปลี่ยนสถานของบัญชีทรัพย์สินจากประเภทเงินลงทุนไปเป็นเงินให้กู้ยืมเท่านั้น โดยกระบวนการบัญชีดังกล่าว จะทำให้มองเห็นวิธีการบัญชีได้ ดังนี้
1.เมื่อโอนหุ้นออก จะบันทึกว่า
เดบิท ลูกหนี้ค่าหุ้น คนที่ 1 95,800,000
ลูกหนี้ค่าหุ้น คนที่ 2 95,800,000
ลูกหนี้ค่าหุ้น คนที่ 3 95,800,000
เครดิต เงินลงทุน วัฒนโชติ 287,400,000
2.เมื่อให้กู้ยืมเงิน จะบันทึกว่า
เดบิท ลูกหนี้เงินกู้ คนที 1 95,800,000
ลูกหนี้เงินกู้ คนที่ 2 95,800,000
ลูกหนี้เงินกู้ คนที่ 3 95,800,000
เครดิต เงินสด คู่สมรส 287,400,000
3.เมื่อรับชำระค่าหุ้น
เดบิท เงินสด 287,400,000
เครดิต ลูกหนี้ค่าหุ้น คนที่ 1 95,800,000
ลูกหนี้ค่าหุ้น คนที่ 2 95,800,000
ลูกหนี้ค่าหุ้น คนที่ 3 95,800,000
4.เมือหักกลบบัญชีตาม 1. – 3. จะเหลือเพียง
เดบิท ลูกหนี้เงินกู้ คนที 1 95,800,000
ลูกหนี้เงินกู้ คนที่ 2 95,800,000
ลูกหนี้เงินกู้ คนที่ 3 95,800,000
เครดิต เงินลงทุน วัฒนโชติ 287,400,000
จากกระบวนการทางบัญชี อาจทำให้เข้าใจได้ว่า การลดลงในเงินลงทุนที่เป็นหุ้นในบริษัทดังกล่าวทั้งสองของคู่สมรส อาจเป็นเพียงนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่า มีการถือครองหุ้นไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด โดยการไม่แสดงรายการหุ้นที่เคยถือครองไว้ ด้วยการนำไปฝากไว้ในชื่อบุคคลอื่นหรือทำการแปรสภาพทรัพย์สินจากเงินลงทุนไปเป็นเงินให้กู้ยืม อันอาจเข้าลักษณะเป็นการแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของ ป.ป.ช.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น