อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Bookmark and Share
Bookmark and Share

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บทเรียนจากความผิดพลาด กรณี"มาบตาพุด"

วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11556 มติชนรายวัน


บทเรียนจากความผิดพลาด กรณี"มาบตาพุด"


โดย กิตติศักดิ์ ปรกติ



การที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อปลายเดือนกันยายนศกนี้ ด้วยการสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีมาบตาพุดอีก 5 กระทรวงได้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข ระงับโครงการหรือกิจกรรมตามโครงการมาบตาพุด 76 โครงการไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น

ดูเหมือนจะจุดชนวนให้เกิดการกล่าวอ้างว่า การระงับโครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่มีมูลค่ามหาศาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเกิดข้อโต้แย้งถกเถียงอื่นๆ ตามมาหลายประการนั้น เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่า "เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิด และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น" หากผู้เกี่ยวข้องไม่ก่อความผิดพลาดขึ้น

แน่นอนที่สุด ขณะนี้หน่วยงานของรัฐ และผู้เกี่ยวข้องย่อมจะพยายามหาทางเยียวยาความเสียหาย และแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี เราควรจะถือโอกาสที่สังคมกำลังเพ่งเล็งปัญหานี้ร่วมกันสำรวจที่มาของความบกพร่องผิดพลาดครั้งนี้ และหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีกในอนาคต



1. รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐมองเห็นปัญหานี้ล่วงหน้าหรือไม่?

บทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 อันเป็นที่มาของข้อโต้แย้งถกเถียงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้น อันที่จริงไม่ใช่ของใหม่ เพราะเป็นบทบัญญัติที่ตราขึ้นตามแนวของมาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ซึ่งมีผลใช้มาแล้วถึง 12 ปีนั่นเอง

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็คือ หลักคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกาย โดยเน้นสิทธิในการดำรงชีพอย่างปกติ ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ด้วยเหตุนี้มาตรา 67 วรรคสองจึงวางหลัก ห้ามมิให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพของประชาชน

แต่การห้ามนี้ก็ไม่ใช่ห้ามขาด เพราะสิ่งที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงนั้น ในทางหลักวิชาในทางข้อเท็จจริง หรือตามมาตรฐานความรู้สึกนึกคิดของประชาชนอาจจะไม่รุนแรงก็ได้

ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงวางข้อยกเว้นไว้ว่าการดำเนินกิจการเหล่านี้อาจมีได้หากได้ทำสิ่งสำคัญ 3 สิ่งเสียก่อนคือ

1.ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

2.รับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย

3.ให้คนกลาง คือองค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชน และนักวิชาการซึ่งเป็นผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพได้ให้ความเห็นประกอบ

กล่าวได้ว่า ความตามรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักดีด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติไว้เมื่อ 2 ตุลาคม 2550 กำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักร่วมกันกับส่วนราชการอื่นทุกหน่วยงานกำหนดมาตรการและกระบวนการรองรับการใช้สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการดำเนินการตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ

แต่จากบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรากฏว่าจนถึงเดือนพฤษภาคม 2552 ไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าหากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ รวมตลอดถึงนักการเมืองที่รับผิดชอบจะใส่ใจต่อปัญหาสำคัญที่จะอาจกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ก็น่าจะได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันผลร้ายไว้บ้าง เพราะตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2550 จนกระทั่งศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็มีเวลาร่วม 2 ปีเต็ม

คำถามที่ประชาชนควรถามก็คือ การที่งานราชการหละหลวมไม่มีการเตรียมการวิเคราะห์และป้องกันความเสี่ยง ตลอดจนวางมาตรการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที จนเกิดเป็นเรื่องเสียหายใหญ่โตขึ้นเช่นนี้ ใครบ้างหนอควรจะต้องรับผิดชอบ?



2. เหตุใดหน่วยงานของรัฐเพิ่งจะมาตื่นตัวเอาในปี 2552?

ความชะล่าใจของหน่วยงานของรัฐที่ดำรงอยู่เกือบสองปีได้สิ้นสุดลงเมื่อประชาชนในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดได้ใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองระยองว่าการดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลมาบตาพุด ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนในท้องที่อย่างรุนแรง แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกลับละเลยไม่ประกาศกำหนดให้ท้องที่ตำบลมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

และศาลปกครองระยองได้พิพากษาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2552 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศท้องที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด และใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

จากนั้นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหน่วยต่างๆ จึงเริ่มร้อนตัว และหาทางแก้ตัวด้วยการทยอยส่งหนังสือหารือมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า

1.มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญมีผลบังคับทันทีหรือไม่ หรือต้องรอให้มีกฎหมายเฉพาะมากำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเสียก่อน และ

2.ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเช่นนั้นหน่วยงานของรัฐจะวางมาตรการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญไปพลางก่อนได้หรือไม่

3.ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะดังกล่าว หน่วยงานซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายปัจจุบันจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายปัจจุบันออกใบอนุญาตแก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจอยู่ใต้บังคับของมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญหรือไม่

มีข้อน่าสังเกตว่าหากหน่วยงานเหล่านี้ได้รับหนังสือแจ้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม 2550 แล้วเกิดสงสัยขึ้นว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร ดังนี้คำถามข้างต้นนี้ก็น่าจะส่งมายังกฤษฎีกาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 โน่นแล้ว



การที่รอมาถึงสองปีแล้วค่อยถามจึงเป็นข้อที่ชวนสงสัยในคุณสมบัติและความเหมาะสมต่อตำแหน่งของหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง

การใช้เวลาเนิ่นนานเช่นนี้ ทำให้ฉุกคิดต่อไปว่าถ้าไม่มีคำพิพากษาศาลปกครองระยองเมื่อเดือนมีนาคม 2552 ขึ้นมา เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเริ่มคิดตั้งคำถามกันหรือไม่

และในระหว่าง 2 ปีมานี้ บรรดากระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิพอที่จะตอบปัญหานี้ได้เชียวหรือ ในเมื่อบุคลากรหรืออดีตบุคลากรของหน่วยงานเหล่านี้ก็ล้วนได้รับเชิญไปเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาบ้าง เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจขนาดยักษ์ใหญ่ หรือบริษัทใหญ่ๆ ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากอยู่หลายคน รับเบี้ยประชุมและโบนัสกันบางแห่งเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท

ท่านเหล่านั้นจะไม่มีสติปัญญาเพียงพอจะคิดหาคำตอบไม่ออกกันเชียวหรือ



3. เหตุใดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่ช่วยแก้ปัญหา?

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาข้อหารือของหน่วยงานต่างๆ ที่เสนอเข้ามาโดยใช้เวลาประชุม 3 เดือนระหว่างพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม 2552 จนได้ข้อยุติสรุปได้ว่า

1.แม้สิทธิชุมชนและความคุ้มครองตามมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญจะได้เกิดขึ้นและได้รับการคุ้มครองแล้วทันทีที่รัฐธรรมนูญมีผล แต่เมื่อมาตรา 303 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนดทำให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นต่อไปว่ามาตรา 303 มาเป็นบทยกเว้นในฐานะเป็นบทเฉพาะกาล มีผลให้มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับทันที จนกว่าจะมีการตรากฎหมายเฉพาะกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติแล้ว

2.ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดรายละเอียดตามมาตรา 67 วรรคสองคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แต่หากหน่วยงานของรัฐจะใช้ดุลพินิจดำเนินการตามรัฐธรรมนูญไปพลางก่อนก็ไม่ต้องห้าม แต่อาจเกิดความสับสน เพราะอาจใช้เกณฑ์ต่างกัน และควรเข้าใจด้วยว่าเกณฑ์เหล่านั้นไม่มีผลบังคับเด็ดขาด คือผู้เกี่ยวข้องมีสิทธิโต้แย้งหน่วยงานที่วางเกณฑ์เหล่านั้นได้

3.ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายเฉพาะนั้น หน่วยงานของรัฐอาจออกใบอนุญาตแก่โครงการต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนได้ โดยปฏิบัติตามแนวทางที่กฎหมายที่บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดไว้ได้ เพื่อมิให้การพิจารณาอนุญาตหรือการลงทุนของเอกชนต้องหยุดชะงักอันส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจของประเทศ

ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้นนี้ได้ทำขึ้นเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2552

แต่สำหรับผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในทางกฎหมายมหาชนพอสมควร ก็จะทราบว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้นนี้มีปัญหาทางหลักวิชา

เพราะการตีความว่ามาตรา 67 วรรคสองยังไม่มีผลบังคับทันที ต้องรอให้มีกฎหมายเฉพาะมารองรับเสียก่อนนี้ เป็นการตีความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ตามมาอีกหลายประการ

การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้นนี้ ขัดกับความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 อย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นที่เข้าใจกันดีว่ารัฐธรรมนูญมุ่งให้สิทธิขั้นพื้นฐานมีผลบังคับทันที จึงได้ตัดถ้อยคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่า "ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ" ออกไป

นอกจากนี้กรณีมาตรา 67 นี้ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยไว้ก่อนนั้นแล้วว่าย่อมมีผลบังคับทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายเฉพาะมารองรับอีก

ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินกรณีถมคลองถนนเขต ไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 เกือบสองปีก่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะทำความเห็นข้างต้นนี้ โดยศาลได้ปรับใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และวางหลักว่าแม้การคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 46, 56 และ 59 ของรัฐธรรมนูญ 2540 จะตกอยู่ใต้บังคับแห่งข้อความที่ว่า "ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ" ก็ต้องถือว่ามีผลเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทันทีแม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติ

และในคดีนี้ศาลได้วินิจฉัยต่อไปด้วยว่ามาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ย่อมมีผลบังคับทันทีเช่นกัน เพียงแต่ในคดีนี้ศาลได้วินิจฉัยว่าการถมคลองแม้จะมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังไม่ถือว่ากระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือชุมชนอย่างรุนแรง

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาที่ 3/2552 ในคดีบ่อขยะที่ขอนแก่นเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ โดยได้ชี้ไว้ว่าโดยที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีเจตนารมณ์ให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายบัญญัติอนุวัติการ

ดังนั้น การปรับใช้มาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมจึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยนัยนี้โครงการที่แม้ตามกฎหมายไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากปรากฏว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อบุคคลหรือชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิต บุคคลหรือชุมชนมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อให้มีการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง

เห็นได้ชัดว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาขัดต่อพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามกฎหมายย่อมมีผลผูกพันคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าในการทำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการหยิบยกคำพิพากษา 2 ฉบับนี้ขึ้นมาถกเถียงกันแต่อย่างใด

หากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างคณะกรรมการกฤษฎีกามองข้ามคำพิพากษาสำคัญๆ ของศาลปกครองสูงสุด และไม่ติดตามแนวคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเสียเองแล้ว รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจะพึ่งพาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ปรึกษาในเรื่องสำคัญๆ ได้อย่างไร



4. บทเรียนคดีมาบตาพุดสะท้อนอะไร?

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่หลงหูหลงตาคณะกรรมการกฤษฎีกา และกองเลขานุการไปครั้งนี้ หากจะมองในแง่ระบบข้อมูลข่าวสารที่ไม่ดีก็ยังอาจจะเข้าใจกันได้

แต่ถ้ามองในแง่หลักวิชาแล้วนับว่าน่าหวาดเสียวอย่างยิ่ง เพราะจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่าการให้ข้อคิดเห็นในกรณีดังกล่าวนี้ดำเนินไปอย่างปราศจากข้อท้วงติง หรือข้อถกเถียงที่พึงมีในทางหลักวิชาอย่างสำคัญ

ในวงวิชานิติศาสตร์ หลักการที่ว่าการตีความกฎหมายต้องตีความให้เป็นผลเป็นสิ่งที่รู้กันอยู่ทั่วไป แต่การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีลักษณะเป็นการตีความให้รัฐธรรมนูญไร้ผลในกรณีนี้ นับว่าเป็นการตีความที่ส่งผลให้คณะกรรมการสูญเสียความน่าเชื่อถือทางวิชาการไปอย่างสำคัญ

นอกจากนี้ หลักวิชากฎหมายมหาชน และหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญยังมีหลักที่ถือเป็นกฎเหล็กข้อหนึ่งว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น จะจำกัดจนกระทบถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพไม่ได้ หลักข้อนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกว่า "หลักธำรงรักษาสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพ" ตามรัฐธรรมนูญ หรือหลักรักษา "essential substance" ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ เป็นหลักที่มีทั้งในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 และยังมีอยู่ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2550

ผลของหลักดังกล่าวก็คือ ในเมื่อออกกฎหมายมาจำกัดให้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิยิ่งทำไม่ได้ และต้องคำนึงถึงการธำรงรักษาสาระสำคัญแห่งสิทธิไว้ก่อนเสมอ จะยอมให้ถูกจำกัดในสาระสำคัญไม่ได้

การปรับใช้กฎหมายกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิจะมีได้ก็เฉพาะในกรณีที่เป็นการคุ้มครองสิทธิที่มีคุณค่าสูงกว่าเท่านั้น การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ถึงกับทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไร้ผลไปจึงนับว่าขัดต่อหลักสาระสำคัญแห่งสิทธิ นับได้ว่าขัดต่อหลักวิชาเป็นอย่างยิ่ง

คำถามที่ว่าหากรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิไว้ โดยยังไม่มีกฎหมายมากำหนดรายละเอียดดังนี้จะปรับใช้กฎหมายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่มีหลักเป็นที่รู้เข้าใจกันในหมู่นักกฎหมายมหาชนอยู่แล้วว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ย่อมมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จึงต้องตีความรัฐธรรมนูญเสียด้วยทุกครั้งไป อย่างไรเรียกว่ากระทบรุนแรง อย่างไรเรียกว่าองค์กรอิสระ เมื่อยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ ก็เป็นกรณีต้องตีความและปรับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสาระสำคัญแห่งสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใช้ข้อความที่มีความหมายกว้าง เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐก็ต้องใช้และตีความรัฐธรรมนูญไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นๆ เป็นสำคัญ ไม่ใช่อ้างว่ายังไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดรายละเอียดจึงถือว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับ เพราะในกฎหมายอื่นๆ ที่ไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียด ผู้มีหน้าที่ใช้กฎหมายก็ต้องตีความกฎหมายเสมอ

เช่น หลักในมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า "การใช้สิทธิก็ดีการปฏิบัติหน้าที่ก็ดี ต้องกระทำโดยสุจริต" ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดแต่ก็ใช้บังคับได้มาร่วม 80 ปีแล้ว

คำว่า "ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี" ในมาตรา 150 และคำว่า "ความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร" ในมาตรา 1337 ก็ล้วนแต่ไม่มีกฎหมายใดมากำหนดรายละเอียดทั้งสิ้น

ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ารัฐธรรมนูญเขียนไม่ชัดเจน จึงฟังไม่ขึ้น

แน่นอนว่าฝ่ายนิติบัญญัติก็อาจเข้ามามีส่วนช่วยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนขึ้นได้ แต่การที่เราเรียกวิชานิติศาสตร์กัน และการที่หน่วยงานทั้งหลายต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์ประจำในตำแหน่งสำคัญ ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องรอให้ฝ่ายนิติบัญญัติมากำหนดรายละเอียดเอาเสียทุกเรื่องนั่นเอง

นอกจากนั้น การใช้กฎหมายที่ผิดพลาด หรือการตรากฎหมายที่ไม่ชอบ ย่อมต้องถูกตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และความสัมพันธ์เชิงเหตุผลที่ดำรงอยู่ในข้อเท็จจริงนั้นๆ และใช้มาตรฐานทางวิชาการนิติศาสตร์มาเป็นเกณฑ์

การที่กฎหมายมีผลใช้บังคับได้ และเป็นที่เชื่อถือของสาธารณชนได้ ก็ต่อเมื่อมีนักกฎหมายที่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ และใช้ความรู้และสติปัญญาของตนในการตีความและปรับใช้กฎหมายอย่างซื่อสัตย์ทั้งต่อกฎหมายและต่อคุณธรรม โดยระวังไม่ให้มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องด้วย แต่ถ้าขาดความรู้ หรือขาดความซื่อตรง หรือไปมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องด้วย การวินิจฉัยของตนก็ย่อมจะเสื่อมเสียความน่าเชื่อถือ และอาจเกิดผลร้ายแก่สังคมส่วนรวมเกินกว่าที่จะคาดหมายได้อีกด้วย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีมาบตาพุดครั้งนี้ ในความเห็นของผู้เขียนเป็นกรณีที่เป็นผลมาจากความรู้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง ความตระหนักในคุณธรรมและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เข้มแข็ง ซึ่งส่งผลสะเทือนจนทำให้ประเทศไทยไม่เข้มแข็ง แต่ก็ดูเหมือนว่าแม้ปัญหาวิกฤตในบ้านเราจะเกิดจากความรู้ทางกฎหมายที่ไม่เข้มแข็งนี้จะดำเนินมาเป็นเวลานับสิบปี รัฐบาลก็ยังไม่มีโครงการจะแก้ไขสักที

ชวนให้สงสัยต่อไปว่า หรือว่าต้นเหตุของเมืองไทยไม่เข้มแข็งนั้นแท้จริงแล้วอยู่ที่รัฐบาล?


หน้า 6
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01301052&sectionid=0130&day=2009-10-30

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
news
http://net209.blogspot.com/ net9
http://parent-youth.blogspot.com/ parent-youth.net
http://holistic1951.blogspot.com/ holistic
http://parent-net.blogspot.com/ parent
http://netnine.blogspot.com/  science
http://newsacademic.blogspot.com/ newsacademic
http://pwdinth.blogspot.com/
http://senatelibrary.wordpress.com/about
http://gotoknow.org/blog/cemu/295924

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น