อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Bookmark and Share
Bookmark and Share

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คำตีความ ... คณะกรรมการกฤษฎีกา ประชามติหลังวาระ 1 ขัดรัฐธรรมนูญ

วันที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เวลา 21:09:56 น.  มติชนออนไลน์

คำตีความ ... คณะกรรมการกฤษฎีกา ประชามติหลังวาระ 1 ขัดรัฐธรรมนูญ

" ... หากจะมีการจัดทำประชามติในเรื่องนี้ ต้องดำเนินการก่อนที่ร่างจะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา ... "

หมายเหตุ - บันทึกผลการหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับความเห็นข้อกฎหมายเรื่องการ ออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบกลับไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆ นี้ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการจัดทำประชามติในขั้นตอนที่ร่างอยู่ในการ พิจารณาของรัฐสภาแล้ว จึงอาจขัดต่อมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำมิได้

 


วิป 3ฝ่ายประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา

 


ตามที่ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปัญหาการออก เสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขอเรียนเสนอผลการพิจารณา ดังนี้


1.การออกเสียงประชามติ
การ ออกเสียงประชามติเป็นไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว อยู่ในระหว่างส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความถูกต้องก่อนน้ำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป) ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดในการดำเนินการไว้ ดังนี้

1.1 เรื่องที่จะออกเสียงประชามติ
การจัดให้มีการออกเสียงประชามติจะมีได้ในเหตุ ดังนี้
(1) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นสมควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่เห็นว่า กิจการเรื่องใดที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชนโดยมี เงื่อนไขว่า นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม.ได้ปรึกษากับประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อจัดให้มีการออก เสียงประชามติ
(2) กฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ

1.2 ผลของการออกเสียงประชามติ
(1) การออกเสียงเพื่อมีข้อยุติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวน เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง
(2) การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง
(3) การออกเสียงตามที่มีกฎหมายบัญญัติ ให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นแต่ถ้ากฎหมายมิได้บัญญัติจำนวนคะแนนไว้ให้ใช้ (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี

1.3 ข้อจำกัดในการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติที่จะกระทำมิได้ ได้แก่
(1) การออกเสียงในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
(2) การออกเสียงเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล


2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการไว้ในมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ ดังนี้
2.1 ผู้เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่

(1) ครม.

(2) ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร

(3) ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมด

(4) ประชาชนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน

2.2 การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

2.3 การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองให้ใช้เสียงข้างมาก

2.4 เมื่อเสร็จวาระที่สองให้รอไว้ 15 วัน แล้วออกเสียงลงคะแนนโดยใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
2.5 เมื่อลงมติเสร็จแล้ว ให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างจากรัฐสภา เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยใช้เป็นกฎหมาย


3.ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จาก บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่าการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถ้า ครม.เห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทบถึงประโยชน์ได้เสียงของประเทศชาติหรือประชาชน อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อมีข้อยุติหรือเป็นการให้คำปรึกษาแก่ ครม.ก็ได้ แต่ผลการออกเสียงประชามติย่อมผูกพันเฉพาะ ครม.ผู้จัดให้มีการออกเสียง ไม่ผูกพันรัฐสภาหรือประชาชนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับขั้นตอนการจัดทำประชามติจะกระทำได้ในช่วงเวลาใดบ้างนั้นมีข้อพิจารณา ดังนี้

 

3.1 การจัดทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา

ก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา ครม.ย่อมสามารถจัดให้มีการออกเสียงประชามติได้เสมอ เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขในประเด็นใดบ้างหรือไม่ ซึ่งอาจเลือกจัดทำในขั้นตอน ดังนี้

(1) ขั้นตอนก่อนการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ครม.อาจกำหนดเป็นประเด็นที่จะให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน เมื่อทราบผลประชามติแล้วจึงยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปตามนั้น

(2) ขั้นตอนที่ยกร่างเสร็จเบื้องต้นก่อนที่จะเสนอต่อรัฐสภา

ในกรณีที่มีการมอบหมายให้องค์กรใดเป็นผู้ยกร่างเบื้องต้น เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เมื่อได้ยกร่างเสร็จก่อนนำเสนอรัฐสภา ครม.อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อนำผลมาให้ปรับปรุงร่างก่อนนำเสนอรัฐสภา

3.2 การจัดทำประชามติหลังจากมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา

โดยที่มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติว่า การจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจะกระทำ มิได้ เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บัญญัติขั้นตอนการดำเนินการไว้แล้ว ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ การที่ ครม.จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติว่ารัฐสภาต้องออกเสียงตามนั้น จึงอาจมีลักษณะเป็นการเพิ่มขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แตกต่างจากที่มาตรา 291 บัญญัติไว้ การจัดทำประชามติในขั้นตอนที่ร่างอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว จึงอาจขัดต่อมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำมิได้ เพราะเป็นการจัดให้มีการออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ อาจแยกพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนได้ ดังนี้

(1) ขั้นตอนในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

การพิจารณาในวาระที่หนึ่ง วาระที่สอง และวาระที่สาม รัฐสภาต้องออกเสียงลงคะแนนตามจำนวนคะแนนที่มาตรา 291 บัญญัติไว้ การนำผลการออกเสียงประชามติเพื่อให้มีข้อยุติต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แก้ไขตามคะแนนเสียงประชามติ จึงเป็นการขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐสภายังคงมีอิสระในการออกเสียงตามมาตรา 291 และหากคะแนนเสียงเป็นไปตามมาตรา 291 ก็จะต้องถือผลการลงคะแนนของรัฐสภา

(2) ขั้นตอนที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว

เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว นายกฯมีหน้าที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จึงไม่อาจจัดให้มีการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงขั้นตอนนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 ที่บัญญัติรองรับให้มีการทำประชามติก่อน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัตินี้
โดยสรุป หากจะมีการจัดทำประชามติในเรื่องนี้ต้องดำเนินการก่อนที่ร่างจะเข้าสู่ กระบวนการของรัฐสภา เว้นแต่เป็นการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นทั่วไป เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาซึ่งมิใช่เป็นการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

 

 

---------------------------------


มติวิป3ฝ่าย  ยกร่างก่อนเรื่องอื่นไว้ทีหลัง


หมายเหตุ - นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน ร่วมกันแถลงข่าวผลประชุมวิป 3 ฝ่าย ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

 

-------------------------------------------


ชินวรณ์ บุณยเกียรติ  ประธานวิปรัฐบาล


ที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภาแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนัก กฎหมายทั้ง 2 สภา เป็นกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกร่างตามข้อเสนอของคณะกรรมสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษา แก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 แนวทาง คือ ฉบับละ 1 ประเด็น 6 ฉบับ และฉบับเดียวทั้ง 6 ประเด็น โดยให้กำหนดหลักการของกฎหมายอย่างกว้าง นอกจากนั้น ให้ไปดำเนินการจัดทำโครงร่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งข้อดีและข้อเสียของรัฐ ธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 รวมทั้งเหตุผลที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอให้มีการแก้ไข จากนั้นจะนำมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคมนี้


ที่ประชุมยังได้หารือถึงการจัดทำประชามติตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอให้ทำประชามติก่อนที่จะยกร่าง ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ได้มอบให้แต่ละพรรคไปหารือและนำกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กระบวนการในการยกร่างคาดจะใช้เวลาภายใน 30 วัน และฝ่ายกฎหมายจะยกร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วให้นำกลับมาหารือวิปทั้ง 3 ฝ่ายในวันที่ 5 พฤศจิกายน การประชุมวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมือง และสมานฉันท์ต่อไป แต่การดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่วิปทั้ง 3 ฝ่ายยอมรับ คือ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ส่วนการทำประชามติต้องเป็นไปตามมาตรา 165


----------------------------------------------


วิทยา บุรณศิริ   ประธานวิปฝ่ายค้าน


ก่อนที่ผมจะเข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย ได้หารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคแล้วมายืนยันในวิปให้สบายใจว่า ฝ่ายค้านยังยืนยันที่จะสนับสนุนมติของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯให้แก้ไขรัฐ ธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น และคิดว่าต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายถึง 2 พันล้านบาท แต่ต้องการเห็นว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม ดังนั้น กระบวนการนี้ก็ต้องไปว่ากันอีกทีหลังการยกร่างเสร็จ ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกาศถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ประเด็นนี้ได้พูดคุยกับ ร.ต.อ.เฉลิมแล้ว ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมเกรงกลัวว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการ ดังนั้น เทคนิคทางการเมืองก็เป็นอย่างที่รับทราบกัน


@  มองว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
ยังอยู่ในเส้นทางที่เรากำลังดำเนินการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญอยู่ และทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันเหมือนเดิม


@ ในฝ่ายค้าน ใครมีอำนาจให้ความชัดเจนเป็นรูปธรรม เพราะที่ผ่านมากลับไปกลับมาตลอด
ที่นั่งอยู่นี้ยังเป็นประธานวิปอยู่ มีอำนาจดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง


@ ต้องฟังประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่
ท่าน ห่วงใย และวิตกว่ารัฐบาลอาจไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นการกระตุ้นอย่างหนึ่งเพื่อเป็นแรงผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญเร็ว ขึ้น ผมได้หารือกับแกนนำพรรค ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าหากจะแก้ไข 6 มาตรา ก็เดินหน้าไป แต่ถ้าจะนำเงิน 2,000 ล้านบาท มาทำประชามติเพื่อถามว่าจะแก้หรือไม่แค่ 6 มาตรา พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย เพราะหากทำประชามติก็ควรถามว่าจะให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ 2550


@ หากรัฐบาลยังยืนยันจะทำประชามติแค่ 6 ประเด็นอยู่ พรรคเพื่อไทยจะถอนตัวหรือไม่
คงจะไม่ถอนตัว แต่จุดยืนของพรรคเห็นว่าควรจะทำประชามติทั้งฉบับ เพราะหากจะแก้แค่ 6 ประเด็นก็สามารถรับฟังความเห็นผ่านช่องทางอื่นได้


-------------------------------------------------------


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1255011639&grpid=&catid=02
--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
blog
http://www.thaifreedompress.blogspot.com/
http://sunblog1951.blogspot.com/ sunday
http://blogpwd.blogspot.com/ pwd9
http://ktblog1951.blogspot.com/ pwday
http://newsblog9.blogspot.com/ news
http://bloghealth99.blogspot.com/ health
http://labour9.blogspot.com/ labour
http://www.ksmecare.com/docSeminar/520902031848987.pdf
http://www-01.ibm.com/software/th/events/lotusliveevent/
http://www.mict4u.net/thai/
http://www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htm
http://www.agkmstou.com/2008/index.php
http://www.baanjomyut.com/library/lotus/index.html
http://www.asianbarometer.org/newenglish/introduction/default.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น