อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Bookmark and Share
Bookmark and Share

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แรงงานนอกระบบ 4 แสนคนสร้างเม็ดเงินเกือบ 3 หมื่นล้าน ยังไร้การคุ้มครอง

 


 
วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 09:19:13 น.  มติชนออนไลน์

แรงงานนอกระบบ 4 แสนคนสร้างเม็ดเงินเกือบ 3 หมื่นล้าน ยังไร้การคุ้มครอง

ปัจจุบันแรงงานอาชีพคนทำงานในบ้านมีจำนวนตัวเลข จากศูนย์ข้อมูลวิจัยกสิกร จำกัด ได้คาดการณ์ว่าปี 2550 ที่ผ่านมามีแรงงานที่ทำงานในบ้านจำนวนมากถึง 400,000 คน สร้างเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 27,000 ล้านบาท โดยมีอัตราค่าจ้างที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความพึงพอใจของนายจ้างในการกำหนดค่าจ้างให้กับตัวแรงงาน


ที่ผ่านมาแรงงานที่ทำงานในบ้านถูกมองในมิติทางเศรษฐศาสตร์ว่า เป็นแรงงานที่ทำงานไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ เมื่อถูกตีความในมิตินี้ จึงส่งผลต่อภาพการให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองทางกฎหมายแรงงาน รวมถึงการเข้าถึงระบบสวัสดิการทางสังคมต่างๆที่แรงงานภาคส่วนนี้ควรจะได้รับ ทำให้สภาพชีวิตของแรงงานที่ทำงานในบ้านต้องเผชิญกับชะตากรรมต่างๆ เช่น การถูกขูดรีดค่าจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม การเอาเปรียบด้านการทำงานที่มีชั่วโมงยาวนาน ไม่มีวันหยุดพักผ่อนที่แน่นอน ทำงานคนเดียวแต่รับใช้คนในครอบครัวและเครือญาติหลายคน มีโอกาสทางการศึกษาน้อย

 

บางรายถูกควบคุมเสรีภาพในการสื่อสารเพื่อการติดต่อกับคนภายนอก หรือญาติ ที่สำคัญแรงงานที่ทำงานในบ้านบางคนที่เป็นผู้หญิงหลายรายต้องตกอยู่ในสภาวะ ความไม่ปลอดภัยในเนื้อตัวร่างกาย และจบชีวิตลงด้วยการฆ่าต้วตาย หรือถูกหาตรกรรมจากนายจ้างบางคนหรือโจรโขมยเป็นต้น


จากสถานการณ์ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น เนื่องในวัน “คนทำงานบ้านสากล” 28 สิงหาคม 2552 ทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายแรงงานทำงานบ้าน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิ MAP มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนหญิง ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ได้จัดทำข้อเสนอและส่งมอบโปสการ์ดเพื่อยื่นต่อประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำข้อเสนอและโปสการ์ดติดตามส่งต่อไปยังรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีข้อเสนอดังต่อไปนี้


1. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ได้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยบัญญัติว่าต้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานบ้านอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับ แรงงานในภาคส่วนอื่น


2. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ได้กำหนดการตรวจสอบ ดูแลความปลอดภัย และอาชีวอนามัย เช่น ต้องให้นายจ้างจัดหาความจำเป็นขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้างทำงานบ้านตามความเหมาะสมกับฐานะของผู้ว่าจ้างได้แก่ การจัดหาที่พักอาศัยที่ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ มีอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดเป็นต้น


3. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ได้จัดให้นายจ้างนำพาลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่การมีบัตรประกันสังคม เพื่อสวัสดิการทางสังคมของลูกจ้างและครอบครัวในอนาคต และเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน


4. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ได้คุ้มครองสิทธิและกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นเด็ก ทั้งนี้ห้ามมิให้นายจ้างจ้างแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และห้ามมิให้แรงงานเด็กทำงานบ้านทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง


5. ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำระบบการคุ้มครองทางทะเบียนลูกจ้างแรงงานทำงานบ้าน โดยให้นายจ้าง หรือผู้ว่าจ้างได้ทำการแจ้งการจ้างลูกจ้างต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงานในเขตพื้นที่ของตน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกต่อการติดตาม คุ้มครองจากพนักงานตรวจแรงงาน อีกทั้งสามารถทราบตัวเลขที่แท้จริงของแรงงานในภาคส่วนนี้ได้อย่างเป็นระบบ


6. ขอให้รัฐบาลจัดทำนโยบายแผนและงบประมาณ เพื่อการส่งเสริม พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างทำงานบ้าน เช่น การจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรม การให้บริการ การทำอาหาร อย่างมืออาชีพ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ได้รับการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ โดยการไปฝึกอบรม และการไปศึกษา นายจ้างต้องอนุญาตให้ไปตามคำร้องขอจากลูกจ้าง และต้องจ่ายค่าจ้างเสมือนการมาทำงานให้กับนายจ้างตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ไว้


เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และคณะฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำข้อเสนอครั้งนี้จะด้รับการดูแลและเข้ามา เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนจากรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผูแทนราษฎร

 

ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา  

28 สิงหาคม 2552 วันแรงงานทำงานบ้านสากล

 

ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติ
 เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ
เครือข่ายแรงงานทำงานบ้าน
มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก   
มูลนิธิเพื่อนหญิง
มูลนิธิ MAP
    http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1251426055&grpid=no&catid=02

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น