อินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
Bookmark and Share
Bookmark and Share

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ป.ป.ช.แฉ11พฤติกรรมทุจริตเชิงนโยบาย ชี้สมัย "ทักษิณ"ขรก.ฟิตแต่คอร์รัปชั่นสูงลิ่ว

 
วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11494 มติชนรายวัน


ป.ป.ช.แฉ 11 พฤติกรรมทุจริตเชิงนโยบาย ชี้สมัย "ทักษิณ"ขรก.ฟิตแต่คอร์รัปชั่นสูงลิ่ว





เมื่อ วันที่ 28 สิงหาคม ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต สถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดอภิปราย "ทุจริตคอร์รัปชั่นหมดไป สังคมไทยได้อะไรคืนมา" โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การทุจริตที่สังคมไทยเผชิญอยู่คือการทุจริตเชิงนโยบายหรือผลประโยชน์ทับซ้อน คือเป็นการคอร์รัปชั่นที่บางครั้งถูกกฎหมาย แต่ผิดหลักประโยชน์ของสาธารณะหลักจริยธรรม ใช้เงื่อนไขทางการเมืองเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลเช่น กรณีเครื่องกดน้ำที่มีการยัดเยียดให้ชุมชน ทั้งที่ชุมชนไม่มีความต้องการ แล้วไปบังคับให้ชาวบ้านเซ็นรับ เป็นการโกงทางนโยบาย บางเครื่องยังเอากุญแจล็อคไว้ เปิดใช้ไม่ได้ นี่คือการคอร์รัปชั่นที่ผิดกฎหมายและจริยธรรมในระยะเวลาเดียวกัน ขณะเดียวกันยังพบว่า นักการเมืองเริ่มล้วงลูกข้าราชการไปจนถึงระดับ ซี 3-4 แล้ว ไม่ได้ล้วงเฉพาะหัวเหมือนในอดีต ซึ่ง ป.ป.ช.กำลังออกกฎหมายใหม่ว่าหากข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือกับการทุจริตและ นำข้อมูลการทุจริตมาให้จะไม่สามารถโยกย้ายข้าราชการคนดังกล่าวออกจากตำแหน่ง ได้ และจะถูกกันไว้เป็นพยาน หากสามารถปราบการทุจริตได้สำเร็จ ข้าราชการก็จะได้รับรางวัลเป็นการปูนบำเหน็จด้วย

นายวิชากล่าวว่า พฤติกรรมการทุจริตเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนมักเกิดขึ้นจาก 1.ทำธุรกิจกับตัวเองคิดโครงการที่ตัวเองมีธุรกิจอยู่ แต่มีการเลี่ยงให้พรรคพวกญาติพี่น้องดำเนินการแทน 2.นำโครงการลงสู่เขตเลือกตั้งของตัวเอง 3.ตรากฎหมายเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับธุรกิจตัวเอง 4.ใช้อำนาจแทรกแซงรัฐวิสาหกิจ 5.หาผลประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ 6.ถอดถอนผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรอิสระ 7.จัดตั้งบริษัท และนำเงินของรัฐไปลงทุน 8.ไปทำงานภาคธุรกิจที่อยู่ใต้การกำกับดูแลของตน 9.ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นพิเศษแลกกับการตัดสินใจเรื่องผลประโยชน์ สาธารณะ 10.ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์กับบุคคลภายนอก และ 11.ใช้อิทธิพลส่วนตัวเพื่อประโยชน์เครือญาติ

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจ เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 บอกว่า การคอร์รัปชั่นของไทยอยู่ในระดับเท่าเดิม โดยคิดว่าเป็นทุนในการประกอบธุรกิจ เพราะถ้าไม่จ่ายงานก็ไม่เดิน และพบว่า นักธุรกิจมีการจ่ายเงินให้นักการเมืองเฉลี่ยตกปีละ 3.1 แสนบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายร้อยละ 1-2 ของรายรับ นอกจากนี้ยังพบว่าในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นยุคที่ข้าราชการมีประสิทธิภาพการทำงานดีที่สุด แต่ก็มีการคอร์รัปชั่นสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ผลที่ประเทศจะได้รับสามารถขจัดการคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไปได้คือ จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 30,000-120,000 ล้านบาทต่อปี

นาย อุทิศ ขาวเธียร รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การทุจริตในอนาคตจะเป็นแบบไฮบริด เป็นพันธุ์ผสมและมีการดื้อยา หากไม่เตรียมตัวตั้งแต่ต้น ป.ป.ช.จะกลายเป็นตัวตลก ดังนั้น ป.ป.ช.จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพราะขณะนี้ ป.ป.ช.เป็นเป้าที่เห็นได้ง่าย ขัดขาได้ง่าย ทำอะไรใครก็รู้ จึงต้องปรับองค์กรให้มีขนาดเล็กแต่ทำงานคล่องตัว มีการกระจายอำนาจและกระจายงาน ลดการทำงานประจำลง และทำตัวเป็นโดนัทที่พร้อมรับทุกอย่าง นอกจากนี้ยังต้องเป็นองค์กรอุดมสติปัญญาต้องเท่าทันการทุจริตที่จะเกิดขึ้น เพราะ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ แต่ทำตัวเป็นราชการ ดังนั้น จะต้องลดความแข็งตัวขององค์กรลงไป


หน้า 11

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น