เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เคยเขียนถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.... ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว
ในครั้งนั้นได้แสดงความห่วงใยว่า ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาโดยไม่มีการแก้ไขแล้ว จะทำให้เจตนารมณ์ในการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ถูกบิดเบือนไป จากรัฐธรรมนูญเพราะมีการขยายอำนาจของ คตง.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ออกไปอย่างมากมายโดยเฉพาะ การปราบปรามการทุจริตเช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ(ป.ป.ช.)
นอกจากเขียนแล้ว ยังได้นำเรื่องดังกล่าวไปอภิปรายในการประชุมรับฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ....ซึ่งมี ส.ส.จำนวนมากเข้าร่วม รวมทั้งนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ในการอภิปรายในเวทีดังกล่าวได้เตือนว่า การ ให้อำนาจ คตง.และ สตง.เทียบเท่าหรือมากกว่า ป.ป.ช.จะสร้างความหวาดผวาและปั่นป่วนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะนอกจากจะถูกตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ถ้าถูก คตง.มีมติชี้มูลว่ากระทำผิดทางวินัยร้ายแรงหรือกระทำผิดอาญาแล้ว แทบจะไม่มีโอกาสต่อสู้เลย ต้องถูกไล่ออก-ปลดออกและถูกส่งตัวขึ้นศาลอาญาซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณา หลายปี
แต่ปรากฏว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ซึ่งคณะกรรมาธิการฯพิจารณาแสร็จและส่งร่างกฎหมายให้ประธาน สภาผู้แทนราษฎรบรรจุเข้าพิจารณาในวาระที่ 2 เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2552 แทบไม่มีการแก้ไขเลย คตง.และ สตง.ยังมีอำนาจล้นฟ้าเหมือนเดิมทุกประการคือ มีอำนาจ.ตรวจสืบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยรับ ตรวจ กระทำทุจริตเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังหรือการกระทำผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของราชการเพื่อดำเนินการ ตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดและบุคคลอื่นใดที่มีส่วนร่วมในการ กระทำผิดนั้นด้วย(มาตรา 63 (จ))
หลังจากตรวจสืบสวนแล้ว คตง.มีอำนาจวินิจฉัยทั้งในทางละเมิด วินัยและอาญา ดังนี้
1.กรณีมูลความผิดทางละเมิด เมื่อ คตง.มีมติกล่าวหาว่า ผู้ใดกระทำความผิด ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเรียกชดใช้ค่าเสียหายตามที่ คตง.มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทาง ละเมิดอีกโดยให้ถือสำนวนการตรวจสอบสืบสวนและเอกสารหลักฐานพร้อมกับความเห็น ของ คตง.เป็นสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ทั้งนี้เรียกให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายภายใน 30 วันและแจ้งให้ คตง.ทราบผลภายใน 15 วัน (มาตรา 95,97)
2.กรณีความผิดทางวินัย เมื่อ คตง.มีมติกล่าวหาผู้ใดกระทำความผิด ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ คตง.มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีก โดยให้ถือสำนวนการตรวจสอบสืบสวนฯของ คตง.เป็นสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบทางวินัย ทั้งนี้ พิจารณาลงโทษภายใน 30 วันและแจ้งให้ คตง.ทราบภายใน 15 วัน(มาตรา 96,97)
3. กรณีความผิดทางอาญา เมื่อ คตง.มีมติกล่าวหาผู้ใดกระทำความผิด ให้ส่งสำนวนตรวจสืบสวน และอเกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล โดยให้ถือสำนวนการตรวจสืบสวนของ คตง.เป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่า สำนวนไม่สมบูรรณ์เพียงพอให้ตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมาพิจารณา ถ้ายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้ คตง.สามารถฟ้องคดีเองได้(มาตรา 99)
การที่ คตง.และ สตง.มีอำนาจมากมายเช่นนี้ จึงแสดงความเห็นห่วงไปว่า จะมีเขตอำนาจทับซ้อนกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีกรรมาธิการฯบางคนไปเพิ่มเงื่อนไขห้ามมิให้ คตง.รับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือดำเนินการไต่สวนด้วยวิธีอื่น(มาตรา 87)
อย่างไรก็ตามไม่มีกรรมาธิการที่เป็น ส.ส.คนใดขอสงวนคำแปรญัตติในการตัดอำนาจของ คตง.เลย ยกเว้นนายนิพนธ์ ฮะกีมี ผู้ช่วยลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ขอตัดอำนาจของ คตง.ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด
แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า ส.ส.ทั้งสภาใบ้กินหรือไม่มีใครสนับสนุนแน่นอนเพราะมองไม่เห็นหายนะภัยในการ เพิ่มอำนาจให้แก่องค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างมากโดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล
อย่าลืมว่า แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีอำนาจมาก แต่รัฐธรรมนูญทั้งในปี 2540 และ 2550 ยังให้อำนาจแก่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีที่เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
แต่ คตง.มีอำนาจหน้าที่ในระดับเดียวกันหรือมากกว่า กลับไม่มีองค์กรใดทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในระดับเดียวกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น